4 สัญญาณ Red Flags จาก Job Description ที่กำลังเตือนให้คุณ “รีบหนีไป”

General TopicAugust 17, 2023 17:29

4 สัญญาณ Red Flags จาก Job Description ที่กำลังเตือนให้คุณ “รีบหนีไป”

เชื่อว่าจากประสบการณ์ทำงานหลายคนน่าจะรู้ว่า
“ควรอ่านทำความเข้าใจ Job Description ก่อนสมัครงานเสมอ”
เพราะนอกจากจะทำให้เรารู้ถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ
ยังเป็นด่านแรกในการคัดกรองงานที่ไม่ใช่ หรือยังไม่เหมาะกับเราออกไปด้วย

เชื่อหรือไม่ว่า Job Description ยังใช้เป็นเครื่องเตือนภัย (Red Flag) ซึ่งบ่งบอกได้ว่าองค์กรนั้นๆ มีลักษณะอย่างไร ควรร่วมงานด้วยหรือมีกลิ่น “พิรุธ” ที่ต้องรีบหนีไปให้ไกลโดยนี่คือ 4 Red Flags ชิ้นใหญ่ที่คุณไม่ควรมองข้าม

ภาระงานแบบครอบจักรวาล

การขาดรายละเอียดงานที่ชัดเจนหรือแม้แต่หน้าที่เยอะจนไม่รู้สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ถือเป็น Red Flag หรือเครื่องหมายเตือนภัยชิ้นใหญ่สำหรับคนทำงาน สาเหตุเพราะบริษัทไม่ชัดเจนกับความต้องการของตัวเองจึงพยายาม “ยัด” ทุกอย่างที่คิดว่าเกี่ยวข้องลงไปอย่างที่เรามักเห็นการเปิดรับ 1 ตำแหน่งแต่กำหนดงานให้ทำแบบ 3 in 1

ส่งผลให้มีโอกาสที่เราจะเจอสถานการณ์ “งานล้น” รวมถึงบริษัทอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายบ่อยๆ โดยภาระจะมาตกอยู่ที่การพยายามปรับจนเสียความเป็นตัวเองซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุของการ Burnout และเราไม่ได้มีหน้าที่ “เดา” ความต้องการของบริษัท แต่เป็นนายจ้างที่ต้องชัดเจนต่อเป้าหมายของตัวเองโดยมีรูปแบบวิธีการที่จะสามารถทำให้เกิดผลสำเร็จ รวมถึง “สเปค” ของคนที่จะเข้ามารับผิดชอบงานเหล่านั้นด้วย


กำหนดเป้าหมายแบบไม่สนความเป็นจริง

การกำหนดเป้าหมายสูงๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนทำงานนอกจากเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้และเติบโต หลักจิตวิทยาของคุณ Yerkes-Dodson พบว่าความกดดัน (อย่างพอเหมาะ) จะทำให้เรารู้สึกถูกท้าทายและมีแรงกระตุ้นที่อยากจะบรรลุเป้าหมายจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามทุกอย่างจะเริ่มพังและดิ่งลงเมื่อความกดดันนั้นหนักเกินไปจนรับมือไม่ได้หรืออธิบายง่ายๆ ว่า “งานยากจนสติแตก”

การวิ่งไล่ตามเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้แบบสูงเกินจริงมีผลโดยตรงต่อ “ความมั่นใจ” และไฟในการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อไม่เห็นปลายทางของคำว่าความสำเร็จสักที เราอาจคิดว่าเป็นเพราะตัวเองขาดความสามารถ ไม่มีคุณสมบัติมากพอทั้งที่ความจริงอาจเกิดจากการกำหนดเป้าหมายที่ไม่สมเหตุสมผลซึ่งไม่มีแผนงานหรือวิธีการไว้รองรับความคาดหวังเหล่านั้น


เพดานฐานเงินเดือนและขั้นต่ำไม่สัมพันธ์กัน

ตามหลักแล้วการจ้างงานมักอิงจากฐานเงินเดือนในตลาดควบคู่กับโครงสร้างฐานเงินเดือนภายในองค์กรเพื่อคำนวนหาตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งงานต่างๆ แต่หากบริษัทเปิดรับสมัครงาน 1 ตำแหน่งโดยระบุฐานเงินเดือนไว้แบบกว้างแบบไม่น่าเป็นไปได้ เช่น Graphic Designer เงินเดือน 30,000 - 100,000 บาท

เมื่อพิจารณาดีๆ เราจะพบว่าตัวเลขทั้งสองไม่มีความใกล้เคียงกันและการจะเปลี่ยนจากเงินเดือนหลักหมื่นไปเป็นหลักแสนต้องอาศัยความสามารถ ประสบการณ์ ความรับผิดชอบที่ต่างกัน

ดังนั้นอาจตีความได้ว่าบริษัทไม่ได้หาคนที่ “เก่งที่สุด” แต่กำลังมองหาคนเก่งที่สามารถ “ต่อเงินเดือนให้น้อยที่สุด” โดยที่ยังทำงานได้ตามโจทย์ที่บริษัทวางไว้และมีโอกาสที่เราจะเผลอใจไปรับงานในเงินเดือน 3 หมื่นแต่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานในระดับเงินเดือนหลักแสน


เน้นย้ำวัฒนธรรมแบบ Urgency Culture

“ทนรับแรงกดดันได้”
“สามารถทำงานภายใต้เวลาจำกัด”
“รับมือกับความเครียดได้ดี”

ทั้งหมดนี้ล้วนสื่อถึงวัฒนธรรมการทำงานหนักและมีแนวโน้มที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยอาจมาในรูปแบบของงานด่วน งานเร่ง งานแทรกซึ่งคำว่า “ความรับผิดชอบ” ทำให้เราต้องแบกรับภาระงานเพิ่มในแต่ละวันจนถึงจุดที่สมดุลของ Work life balance ได้หายไป เราก็จะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องแบกงานกลับไปทำที่บ้าน อยู่ทำงานนอกเวลา (Over time) ดึกๆ เป็นประจำ ไปจนถึงนั่งทำงานไม่พักแม้ในวันหยุดสุดสัปดาห์เพราะความเคยชินกับวัฒนธรรมเหล่านั้น

สมัครงานผ่าน “คน” โดยมี Recruiter มืออาชีพช่วยคัดกรอง
ฝากโปรไฟล์ไว้กับเรา Reeracoen Recruitment

อ่านบทความเพิ่มเติม: 
อย่าด่วนตัดสินใจตอบรับงานใหม่ ถ้ายังไม่ได้เห็น 3 สิ่งต่อไปนี้
สัญญาณจากการทำงานที่กำลังบ่งบอกว่าเรามีโอกาสที่จะ "ไม่ผ่านโปรฯ"


แหล่งที่มา: https://bit.ly/3E0GnkJ 
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment