Personality Hire เทรนด์การจ้างงานคนที่มี “พลังงานบวก” เพื่อบรรยากาศที่ดีในออฟฟิศ

Jobs Market InsightJanuary 10, 2024 17:52

 

Personality Hire เทรนด์การจ้างงาน
คนที่มี “พลังงานบวก” เพื่อบรรยากาศที่ดีในออฟฟิศ

โดยทั่วไปเกณฑ์การพิจารณารับเข้าทำงานมักอิงจากความสามารถและประสบการณ์เป็นหลัก จะด้วยใบปริญญาหรือกลยุทธ์แบบ Skill based hiring การจ้างงานส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับ “ทักษะ” ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Technical skill หรือ Soft skill ก็ตาม แต่ปัจจุบันมีเทรนด์ใหม่ถูกพูดถึงขึ้นมาอย่าง Personality Hire ที่กำลังกำลังเป็นเทรนด์ในแอปพลิเคชัน TikTok และได้รับความสนใจจากกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่โดยเฉพาะวัยรุ่น Gen-Z ซึ่งได้อธิบายถึงความเชื่อว่าพวกเขาควรได้ถูกจ้างเข้าไปในบริษัทจาก “บุคลิกภาพ” กับ “พลังงานบวก” ที่จะมอบให้แก่องค์กร

โดยประโยชน์และหน้าที่หลักๆ คือการยิงมุกตลก หยอกล้อ สร้างความบันเทิงต่างๆ เพื่อสร้าง “บรรยากาศที่ดี” ให้กับออฟฟิศและเพื่อนร่วมงานประกอบกับเป็นการชดเชยในเรื่องของทักษะบางอย่างที่ขาดหาย นอกจากนี้ เทรนด์ Personality Hire ได้จุดประเด็นให้เกิดการถกเถียงเรื่อง “คุณค่า” ของผู้สมัครที่มีความสามารถในการสร้างบรรยากาศในที่ทำงานให้ดีขึ้น มากกว่าจะคัดเลือกด้วยทักษะเพียงอย่างเดียว

เนื่องจากบางครั้งการคัดคนด้วย “ฝีมือการทำงาน” ล้วนๆ อาจได้ผลดีในแง่ของ “ผลงาน” ที่มีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพ แต่ก็ตั้งอยู่บนความเสี่ยงที่จะทำให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่หรือบรรยากาศที่ไม่น่าอยู่จากนิสัยส่วนตัวที่ไม่ได้ถูกคัดกรอง และเป็นต้นเหตุที่พนักงานลาออกตั้งแต่เริ่มงานได้ไม่นานเพราะไปสนใจแต่ผลงานมากกว่าการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

อาจดูเหมือนเป็นเรื่องขำขันสีสันบันเทิงของกลุ่มวัยรุ่น TikTok แต่หากลองมองอีกมุมหนึ่งเราจะพบว่า “บุคลิกภาพ” หรือความสามารถในการสร้างบรรยากาศที่ดีกับคนหมู่มาก คล้ายกับคุณสมบัติ Soft skill ด้านทักษะมนุษย์สัมพันธ์ที่จำเป็นต่อการสื่อสารและการจัดการอารมณ์ของผู้คน ซึ่งมีความสำคัญต่อองค์กรไม่น้อยเช่นกัน

ดังนั้น เทรนด์นี้จึงแสดงให้เห็นอีกด้านของความสำคัญจากบรรยากาศการทำงานที่ดี เนื่องจากทักษะการทำงานเป็นสิ่งที่สามารถสอนกันได้ ในขณะบุคลิกภาพและทัศนคตินั้นอาจจะทำได้ยากกว่า

แต่ข้อสังเกตที่น่าระวังของ Personality Hire สำหรับองค์กร คือการไปเน้น “อารมณ์” และลืมมองความสำคัญของ “ทักษะ” ซึ่งเป็นรากฐานที่แทบจะสำคัญที่สุดต่อการทำงานจนทำให้มาตรฐานการคัดคนดูจะไม่ชัดเจนอย่างที่ควร เพราะสุดท้ายแล้วทักษะและประสบการณ์ก็ยังต้องมาก่อนเสมอ

อย่างไรก็ตาม ในบางตำแหน่ง บางสายงานที่มีการแข่งขันสูง การถอย 1 ก้าวโดยยอมลด “สเปค” ลงมาสักนิด เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้สมัครที่ทัศนคติดีมีเป้าหมาย ความเชื่อที่คลิกกับวิสัยทัศน์องค์กร รวมถึงสามารถสร้างบรรยากาศดีๆ ให้เพื่อนร่วมงานได้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งเส้นทางสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน

ฝากโปรไฟล์ไว้กับเรา Reeracoen Recruitment

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
Skills over school! เมื่อบริษัทใหญ่ทั่วโลกลดกำแพง "วุฒิการศึกษา" และหันมาเน้นจ้างงานจากทักษะมากขึ้น
7 ทักษะ Soft skills ที่ต้องเชี่ยวชาญหากต้องการก้าวหน้าในยุคนี้


แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3HaklxC
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment