7 จุดสังเกตระหว่างการสัมภาษณ์งาน ที่บอกใบ้ว่า “เรายังไม่ใช่” คนที่องค์กรมองหา

Interview GuidelineSeptember 11, 2023 16:00

 

7 จุดสังเกตระหว่างการสัมภาษณ์งาน
ที่บอกใบ้ว่า “เรายังไม่ใช่” คนที่องค์กรมองหา

เคยไหมสัมภาษณ์งานเสร็จรอบริษัทติดต่อกลับเป็นเดือนแล้วก็ยังไม่มาสุดท้ายกินเวลานานจนต้อง “ตัดใจ” มองหางานใหม่อย่างเคว้งคว้าง แต่เชื่อหรือไม่ว่าการจะ “ได้งาน” หรือ “ไม่ได้งาน”ไม่จำเป็นต้องรอให้บริษัทติดต่อกลับหรือแจ้งผลมาอย่างเดียวเพราะเราสามารถดูแนวโน้มได้ตั้งแต่ขั้นตอนการสัมภาษณ์บางคนอาจได้ Feedback ตรงๆ หลังสิ้นสุดการสนทนา

และนอกจากการบอกตรงๆ ว่าเรายังไม่เหมาะกับงานเรายังสามารถสังเกตได้จากสัญญาณต่อไปนี้

1) ผู้สัมภาษณ์มีท่าที่ “เปลี่ยนไป” จากเดิม

“พฤติกรรม” และการปฏิบัติตัวที่ดูต่างไปจากเดิมคือสิ่งที่สามารถสังเกตได้เมื่อฝ่ายตรงข้ามมีมุมมองต่อเราเปลี่ยนไปแม้ว่าจะพยายามเก็บอาการแค่ไหนก็ตาม

ดังนั้นถ้าผู้สัมภาษณ์เริ่มออกอาการ “ไม่สบตา” หรือมีท่าทีแปลกๆ เราจะรู้ได้ทันทีว่าต้องมีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว รวมถึงหากเราพบว่าอีกฝ่ายมีท่าทางในลักษณะ “เอนหลังพิงเก้าอี้” ไม่มีสมาธิอยู่กับการสนทนา หรือเหมือนถูกเบี่ยงเบนความสนใจก็สามารถพิจารณาได้ว่าเขาอาจยังไม่สนใจในตัวเรามากพอ

2) เจอแต่คำถามกว้างๆ ตอบง่ายๆ

ปกติแล้วการสัมภาษณ์งานมักจะความจริงจังมีการยิงคำถามยากๆ เพื่อทดสอบเราอยู่เสมอ

แต่ถ้าผู้สัมภาษณ์ใช้แต่คำถามกว้างๆ ที่ตอบได้ง่ายๆ หรือแม้แต่ถามคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานก็เป็นไปได้ว่ามี “ตัวเต็งในใจ” สำหรับตำแหน่งงานนี้ไว้ก่อนแล้ว โดยมักจะเกิดกับกรณีที่มีผู้สมัครเป็นตัวเลือกหลายคนซึ่งมีคนในใจไว้แล้ว และไม่ได้มีความสนใจที่จะจ้างงานคนอื่นๆ ที่เหลือ

3)  อีกฝ่ายรวบรัดรีบจบการสัมภาษณ์

การสัมภาษณ์จะจบลงอย่างรวดเร็วแม้ว่าจะเพิ่งผ่านไปไม่นานถ้านายจ้างพบว่าตัวเอง “ไม่สนใจ” ที่จะรับเรา
เนื่องจากสามารถตัดสินใจได้แน่ชัดแล้วว่าเรายังไม่เหมาะกับงานนี้และต้องการรักษาเวลาให้กับทั้งสองฝ่าย

4) ถูกเสนอ “ตำแหน่งอื่น” ให้สมัคร

เมื่อสิ้นสุดการสัมภาษณ์แล้วอีกฝ่ายพูดถึง “ตำแหน่งอื่น” ที่อาจจะเหมาะกับเรามากกว่าและจะมีการฝากโปรไฟล์ไว้ให้อีกทีมพิจารณา รู้หรือไม่ว่านี่คือการบอกอ้อมๆ ว่า “คุณยังไม่ผ่านการคัดเลือก” สำหรับงานนี้

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมการที่ผู้สัมภาษณ์แนะนำตำแหน่งอื่นให้ถึงเป็นการบอกว่าเราไม่ผ่านการสัมภาษณ์ ลองยกตัวอย่างให้นึกตามว่าเรามีทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะกับ “ตำแหน่ง A” แต่เมื่อสัมภาษณ์เสร็จเรียบร้อยปรากฎว่าอีกฝ่ายบอกว่าคุณอาจจะเหมาะกับ “ตำแหน่ง B” ถ้าพูดกันตามความจริงมันคงเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะสามารถเปลี่ยนลักษณะงานได้ทันที ดังนั้นการแนะนำถึงตำแหน่งงานอื่นจึงเป็นการบอกอ้อมๆ ว่าเรายังไม่ใช่

5) ไม่เปิดโอกาสให้ได้ถามกลับ

บ่อยครั้งที่เราจะสามารถสังเกต “ลางร้าย” ได้ถ้าผู้สัมภาษณ์ไม่เปิดโอกาสให้เราได้ยิงคำถามกลับ เนื่องจากหากเรา “น่าสนใจ” และมีสิทธิถูกรับเข้าทำงานเมื่อสิ้นสุดการสัมภาษณ์นายจ้างมักจะเปิดโอกาสให้เราถามเรื่องที่สงสัยเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์กรและการทำงานให้มากขึ้น

6) ถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเอง “ไม่เหมาะ” กับตำแหน่งงาน

หนึ่งในสัญญาณที่พบได้ระหว่างการสัมภาษณ์คือการที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับงานนี้ไม่ว่าจะเป็นกรณี “เก่งเกินไป” หรือ “ดีไม่พอ” ซึ่งสามารถรับรู้ได้จากการสนทนาและวิธีปฎิบัติของอีกฝ่าย

สำหรับสาเหตุที่การ “เก่งเกินไป” ก็สามารถเป็นปัญหาได้เนื่องจากเมื่อพนักงานพบว่างานที่ทำขาดความท้าทายก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและอยากเปลี่ยนงานในที่สุดซึ่งบริษัทเองก็ไม่อยากให้มีการ Turnover หรือเปลี่ยนพนักงานบ่อยๆ

7) ไม่พยายาม “ขาย” หรือพูดถึงองค์กรให้มากขึ้น

หากนายจ้างต้องการให้เราเข้าไปทำงานพวกเขามักจะมีการพยายามขายข้อดี เช่น สวัสดิการต่างๆ ของบริษัท รวมถึงให้ข้อมูลอื่นที่จำเป็นต่อการทำงานในเบื้องต้น เช่น ภาพรวมองค์กร วัฒนธรรมการทำงานหรือพูดง่ายๆ คือพยายามโปร่งใสเพื่อ “ซื้อใจ”

ในทางกลับกันถ้าเราไม่ใช่คนที่บริษัทกำลังตามหาก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องแชร์ข้อมูลเหล่านี้ให้คนนอกได้รับรู้

เราสามารถใช้สัญญาณเหล่านี้จากผู้สัมภาษณ์ไม่เพียงเพื่อคาดการณ์แนวโน้มของอนาคตตัวเองหลังการสนทนาสิ้นสุดลง แต่ยังสามารถสังเกตเพื่อนำไป “พัฒนาแก้ไข” ส่วนที่ตัวเองยังบกพร่อง

ฝากโปรไฟล์ไว้กับ Reeracoen Thailand ที่สามารถช่วย “หางาน” ได้อย่าง “ตรงใจ”
พร้อมให้คำแนะนำด้านการสัมภาษณ์ตลอดการสมัครงาน

คลิกที่นี่เพื่อลงทะเบียนฝากโปรไฟล์

อ่านบทความเกี่ยวกับเทคนิคการสมัครงานเพิ่มเติม:
4 สัญญาณ Red Flags จาก Job Description ที่กำลังเตือนให้เรารีบหนีไป
"ทำไมถึงลาออกจากที่เก่า" ควรตอบอย่างไรเมื่อเจอคำถามลักษณะนี้

 

แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3Z95M5v
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment