งาน Marketing เรียนการตลาดทำงานอะไรได้บ้าง สำรวจแนวทางและตำแหน่งต่างๆ ได้ที่นี่!

General TopicApril 02, 2024 16:08

งาน Marketing เรียนการตลาดทำงานอะไรได้บ้าง
สำรวจแนวทางและตำแหน่งต่างๆ ได้ที่นี่!

การแข่งขันของภาคธุรกิจในปัจจุบันนอกจากคุณภาพของสินค้า / บริการที่ดีแล้ว ยังต้องอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดที่เฉียบคมเพื่อให้แบรนด์โดดเด่น เป็นที่จดจำเหนือคู่แข่งและประสบความสำเร็จต่อไปได้ในระยะยาว ซึ่งโจทย์ใหญ่ของงาน Marketingก็คือทำอย่างไรให้สินค้า / บริการจากบริษัท สามารถเจาะเข้าไปยึดพื้นที่ในใจกลุ่มลูกค้า ไม่ใช่แค่ซื้อแล้วจบไป แต่ยังตัดสินใจซื้อซ้ำและกลายมาเป็น Brand loyalty ในที่สุด

ด้วยลักษณะงานที่ดูคล้ายการหาวิธีทลาย ‘กำแพง’ และหว่านล้อมเป้าหมายให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ทำให้อาชีพนักการตลาด หรือสายงาน Marketing เป็นอีกหนึ่งสายอาชีพที่น่าสนุก มีหลายคนให้ความสนใจ ไปจนถึงอยากรู้ว่าประกอบไปด้วยงานแบบไหนบ้าง

ในบทความนี้ Reeracoen Thailand จะพาไปสำรวจพร้อมๆ กันว่าสถานีถัดไปหลังเรียนจบสายการตลาดจะสามารถทำงานแบบไหน น่าสนใจอย่างไร โดยเริ่มจากการแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักได้แก่


1) บริษัทเอเจนซีโฆษณา (Advertising Agency)

เริ่มด้วยงาน Marketing สายเอเจนซี มีหน้าที่ดูแลแคมเปญการตลาด ตามแต่ละวัตถุประสงค์ของลูกค้าที่อาจจะมาจากฝั่ง Corporate อีกที เช่น กระตุ้นยอดขาย โปรโมตสินค้า เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่การหาข้อมูล คิดแผน กำหนดกลยุทธ์ ผลิตชิ้นงาน ติดต่อภายนอก อาทิ ดีลงานกับ KOLs, Production House, เช่าสถานที่

นับเป็นสายงานที่ว่ากันว่า ‘งานหนัก’ มากถึงมากที่สุด ตารางงานไม่ค่อยแน่นอน มีเวลาส่วนตัวน้อย เนื่องจากลูกค้าบางเจ้าอาจเป็นบริษัทต่างชาติที่ Time zone ต่างกัน แต่ก็แลกมากับประสบการณ์เนื้อๆ ที่อาจหาไม่ได้จากที่ไหนเช่นกัน สำหรับจุดเด่นของการทำงานในสายเอเจนซีโฆษณาก็จะมีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ที่หลากหลาย ได้ใช้ความสามารถลงมือทำงานจริงแบบเต็มที่ซึ่งแม้จะมีความกดดันสูงแต่ก็ช่วยให้เติบโตได้เร็ว

หมายเหตุ เอเจนซีแต่ละแห่งจะมีจุดเด่นที่ต่างกัน เช่น บางที่ถนัด Production บางที่อาจจะเน้น Digital Marketing เป็นหลัก สังเกตได้จากรางวัล หรือ Achievement ของแต่ละบริษัท

ด้านโครงสร้างองค์กร บริษัทเอเจนซีจะแบ่งเป็นแผนกชัดเจน เช่น ทีม Account Executive, ทีม Graphic Designer, ทีม Media Planner ซึ่งแต่ละแผนกก็จะมีพนักงานหลายคนและใช้วิธีสร้าง ‘ทีมเฉพาะกิจ’ ดึงเอาคนมาจากแต่ละส่วนมาทำงานร่วมกันเป็นโปรเจกต์


2) บริษัท Corporate

งาน Marketing ฝั่ง Corporate จะต่างจากสายเอเจนซีตรงที่ลักษณะงานจะระบุชัดเจนว่าดูแลสินค้าประเภทไหน ส่วนใหญ่แผนการตลาดก็จะล้อไปกับแนวทางธุรกิจของบริษัทด้วย วัตถุประสงค์ของการทำ Marketing ในบริษัท Corporate ก็จะมีทั้ง Business to Business (B2B) และ Business to Consumer (B2C) ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีช่องทางและเครื่องมือทำแคมเปญที่ต่างกัน เช่น บางบริษัทอาจเน้นใช้ Digital marketing เป็นสื่อกลาง ในขณะที่บางธุรกิจต้องอาศัย Out of home media ค่อนข้างมากจึงอาศัยทักษะความรู้ที่มีความเฉพาะทางในแต่ละด้านด้วย

ส่วนโครงสร้างองค์กรจะต่างจากบริษัทเอเจนซี ขึ้นอยู่กับขนาดองค์กร รวมถึงการให้ความสำคัญกับฝ่ายการตลาด สำหรับคนที่สนใจก็อาจจะต้องทำการบ้านเพิ่มเติม หาข้อมูลว่าฝ่าย Marketing ในบริษัทที่เรากำลังสนใจอยู่มีขนาดทีมใหญ่แค่ไหน แต่ละตำแหน่งมีทำอยู่กี่คนและมีรูปแบบการทำงานอย่างไรบ้าง



ตัวอย่างตำแหน่งงานในสายงาน Marketing

  • Content Marketing

มหาเศรษฐีระดับโลก ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft อย่าง Bill Gates เคยกล่าววลีอันโด่งดังไว้ว่า “Content is King” ซึ่งก็คือการเล่าเรื่องราวสร้างการรับรู้เชิงบวกต่อแบรนด์และเปลี่ยนจาก ‘ผู้อ่าน’ เป็นคนที่เชื่อมั่นและกลายเป็น ‘ผู้ซื้อ’ ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม แต่ละบริษัทจะมีชื่อเรียกตำแหน่งงานลักษณะนี้ต่างกันไม่ว่าจะเป็น Content Creator, Content Writer, Creative Content ซึ่งงาน Content Marketing เป็นหนึ่งในตำแหน่งสำคัญสำหรับการตลาดออนไลน์บนโลกยุคดิจิทัล ณ ปัจจุบันที่ผู้คนมีพฤติกรรมใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียอยู่เกือบตลอดเวลา ตั้งแต่ค้นหาข้อมูล ทำงาน รวมถึงซื้อสินค้าออนไลน์ (E-commerce)

ทำให้ Content Marketing มีหน้าที่กำหนดกลยุทธ์การสื่อสารผ่านเนื้อหาแต่ละรูปแบบทั้งในลักษณะบทความ รูปภาพ และวิดีโอคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อวัตถุประสงค์ในการสื่อสารที่แตกต่างกัน เช่น กระตุ้นยอดขาย สร้าง Brand awareness เป็นต้น

คุณสมบัติพื้นฐานของคนที่จะทำงานสาย Content คือสามารถค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาเรียบเรียง และสื่อสารได้อย่างเข้าใจ รู้จักจุดเด่น กับพฤติกรรมของผู้ใช้ในแต่ละแพลตฟอร์ม อาทิ Facebook, Instagram, Google รวมถึงเว็บอื่นๆ เพื่อกำหนดรูปแบบคอนเทนต์กับเนื้อหาในการสื่อสารได้ดีขึ้น

  • Media Buyer

เป็นผู้จัดซื้อพื้นที่สื่อทั้งในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ เช่น โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook, Youtube รวมถึงเว็บไซต์ ตลอดจนขึ้นป้ายในสถานที่ต่างๆ เพื่อทำการโฆษณาตามแคมเปญที่ทีมได้กำหนดไว้ โดยหัวใจสำคัญของ Media Buyer คือการ ‘ต่อรอง’ นำชิ้นงานไปโชว์บนพื้นที่ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดพร้อมหาจุดคุ้มทุนของการโฆษณาภายใต้งบประมาณที่จ่าย จัดการกับตัวเลขได้ดี สามารถดึงข้อมูลทำรีพอร์ตต่อได้

นอกจากนี้ ควรมีความรู้ในการใช้งานสื่อต่างๆ อย่างดีเยี่ยม เพราะบางครั้งอาจต้องมีการแก้ปัญหาหน้างาน เช่น โฆษณาโดนแบน หรือมีการปรับงบสำหรับซื้อพื้นที่สื่อเมื่อเกิดกรณีดังกล่าว Media Buyer ก็จะเป็นคนที่เข้ามาจัดการ

  • SEO Specialist (Search Engine Optimization)

Content Marketing คือเครื่องมือทางการตลาดที่ใช้การสื่อสารด้วยเนื้อหาที่สร้างมุมมองเชิงบวกต่อแบรนด์ แต่ในเทรนด์ปัจจุบันซึ่งแบรนด์ไหนๆ ก็หันมาแข่งขันด้วยคอนเทนต์ แต่ละแพลตฟอร์มจึงมีคอนเทนต์ฟีดเข้ามาในแต่ละวันเยอะมาก ทำให้ SEO เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่องค์กรจะขาดไปไม่ได้

ความสำคัญของตำแหน่งด้าน SEO มีอยู่หลายด้าน เริ่มจากการเพิ่มความโดดเด่นของเนื้อหา และแบรนด์ ปกติแล้วถ้าจะค้นหาข้อมูลสักเรื่องส่วนใหญ่ก็จะใช้ Google ซึ่ง Google ถือเป็นเครื่องมือค้นหาอัจฉริยะที่นำข้อมูลบนเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียมาเทียบกับคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้งานต้องการค้นหา แล้วแสดงผลลัพธ์เนื้อหาที่ตรงกับคีย์เวิร์ดนั้นๆ

ดังนั้นหน้าที่ของ SEO Specialist ก็คือวางแผนสร้างเนื้อหาให้โดดเด่นกว่าคู่แข่ง กำหนดคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ หรือสินค้าและบริการเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายค้นหาเราเจอก่อนเจ้าอื่นๆ

  • ผู้จัดการโซเชียลมีเดีย (Social Media Manager)

ด้วยรูปแบบการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปัจจุบันที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต นับเป็นพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ ข้อมูลในปี 2021 พบว่าจำนวนผู้ใช้งานโซเชียลทั่วโลกมีมากถึง 4.48 พันล้านคน (มากกว่าครึ่งของประชากรทั้งโลก)

ด้วยปริมาณผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการก็ยิ่งเห็นโอกาสในการเข้าไปทำธุรกิจมากขึ้น เช่น สร้างเพจประชาสัมพันธ์ข้อมูล สร้างฐานลูกค้า ทำโฆษณา โซเชียลมีเดียจึงเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับงาน Marketing ในฐานะ ‘ตัวแทนของแบรนด์’ และเจาะเข้าไปยังกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสกลายเป็นลูกค้าในอนาคต

ตำแหน่ง Social Media Manager อาศัยความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการเลือกใช้คำ ออกแบบภาพและวิดีโอที่น่าสนใจ ประกอบกับความเข้าใจในแต่ละแพลตฟอร์มอย่างลึกซึ้ง สามารถบริหารจัดการรักษาความพันธ์ที่ดีกับลูกเพจโดยกำหนดรูปแบบเนื้อหาของแต่ละวันอย่างเหมาะสม อัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ และความเป็นไปบนโลกโซเชียลอย่างสม่ำเสมอ

  • ผู้จัดการแบรนด์ (Brand Manager)

ดูแลแคมเปญการตลาด และงาน Marketing ทั้งหมดของสินค้า/บริการ โดยประสานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทีมคอนเทนต์ ทีมกราฟิก ทีมมีเดียเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถถ่ายทอดเนื้อหา รวมถึงคุณค่าของแบรนด์ไปยังผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสม จึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มีไหวพริบที่ดี มีทักษะการนำเสนอกับโน้มน้าวใจเป็นจุดแข็ง เนื่องจากต้องซื้อใจผู้บริหารให้เชื่อมั่นในกลยุทธ์ รู้จักวิเคราะห์ตลาด และเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค

  • นักวิเคราะห์การตลาด (Market Research Analyst)

การที่แคมเปญโฆษณาจะประสบผลสำเร็จ ต้องเริ่มจากกระบวยการคิดตั้งแต่ต้นนำ เมื่อมีข้อมูลที่มากพอก็จะเข้าใจภาพรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะพฤติกรรมผู้บริโภค ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ สถานการณ์แวดล้อม โอกาส-อุปสรรค และสามารถวางแผนกำหนดกลยุทธ์ได้อย่างเฉียบขาด

สำหรับนักวิจัยการตลาด จะต้องมีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในเชิงการวิจัยคุณภาพ (Qualitative) และเชิงปริมาณ (Quantitative) เพื่อนำข้อมูลเชิงลึกมาวางกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม

  • ฝ่ายประชาสัมพันธ์ (Public Relation)

นอกจากการทำ Marketing เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว องค์กรยังจำเป็นต้องมีทีม PR ด้วยเช่นกัน เพราะแม้จะมีลักษณะการทำงานคล้ายกัน แต่มี "เป้าหมาย" ที่ต่างกันอย่างชัดเจน

ถ้างาน Marketing มีไว้เพื่อเน้นเพิ่มการรับรู้สินค้า กระตุ้นยอดขาย งาน PR ก็มีไว้เพื่อเพิ่มภาพลักษณ์แบรนด์ กล่าวคือนอกจากจะมีสินค้า/บริการที่ดี ยังมีภาพลักษณ์ที่น่าสนับสนุนอีกด้วย

หน้าที่ของฝ่าย PR จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานสามข้อได้แก่ "ก่อ-กัน-แก้" หรือหมายถึงก่อสร้างความพันธ์ที่ดี ป้องกันมุมมองเชิงลบ และแก้ไขความเข้าใจผิด โดยมีเป้าหมนยเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีให้กับแบรนด์ ทั้งกับลูกค้า ผู้ถือหุ้น และพนักงานในองค์กรอีกด้วย


ปัจจุบันหลายบริษัทไม่ได้แข่งขันกันในด้าน Marketing เพียงอย่างเดียว แต่ยังแข่งกันในแง่ของภาพลักษณ์องค์กรด้วย เห็นได้จากแคมเปญ CSR หรืองานการกุศลเพื่อสังคมจำนวนมาก เพราะปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งรอบตัว ไม่ใช่แค่สินค้า ดังนั้นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ "ถูกจริต" กลุ่มลูกค้า ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นนั่นเอง




อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:

จบวิศวะทำงานอะไรได้บ้าง? สำรวจตำแหน่งต่างๆ ได้ที่นี่