5 วิธีจัดการ 5 ความกังวลหลัก ที่คนมักจะกลัวเมื่อต้องย้ายงาน

How to?April 12, 2023 16:56

 


5 วิธีจัดการ 5 ความกังวลหลัก ที่คนมักจะกลัวเมื่อต้องย้ายงาน

คุณเคย “กลัวการเริ่มงานใหม่” ไหม?
ทั้งเราจะเข้ากับสังคมใหม่ได้ไหม ความกดดันจะหนักแค่ไหน จะทำได้ดีพอสมกับความคาดหวังของหัวหน้าหรือเปล่า

สำหรับหลายคนอาจไม่ใช่แค่เพราะกลัวการทำงาน แต่เกิดจากความกังวลถึงปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่เปลี่ยนไป
ซึ่งวันนี้เราได้รวม 5 ความกังวลหลักที่คนมักจะกลัวเมื่อต้องตัดสินใจย้ายงานรวมถึงวิธีจัดการแก้ปัญหา


1) กลัวความล้มเหลว

บ่อยครั้งที่เรามักจะปล่อยให้ความกลัวอยู่เหนือทุกสิ่งโดยเฉพาะ “โอกาส” ที่จะพาตัวเองไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ทุกคนเมื่อย้ายงานใหม่ ก็อยากจะทำผลงานให้ดีจึงถือเป็นความกลัวที่เรียกได้ว่าเกิดขึ้นบ่อยที่สุด
เพราะในฐานะที่เราจะเข้าไปเป็นพนักงานใหม่แน่นอนว่าต้องมี “ความคาดหวัง” ที่เราต้องรับมือ
ทั้งจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่จากตัวเองที่อยากจะเข้าไปช่วยสร้างผลประโยชน์
ไม่ใช่กลายเป็นภาระให้คนอื่นต้องเหนื่อยเพิ่ม

อย่าปล่อยให้ความกลัวเป็นอุปสรรคจนไม่ได้ขยับไปไหน
แก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการทำความเข้าใจความกลัวที่นึกถึงแล้วตอบคำถามตัวเองด้วย 4 คำถามต่อไปนี้

  1. อะไรที่จะทำให้เราถือว่าตัวเอง “ล้มเหลว”
  2. วิธีไหนบ้างที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
  3. ถ้าหากเกิดขึ้นเราจะดึงตัวเองกลับมายังไง
  4. เรื่องไหนที่มีโอกาสเกิดขึ้นมาก - น้อยที่สุด

4 คำถามดังกล่าวจะชี้ให้เห็นปัญหาที่เรากังวลพร้อมแนวทางป้องกัน
รวมถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นซึ่งทำให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือได้ดีขึ้นด้วย


2) กลัวความคิดของคนรอบข้าง

เชื่อไหมว่าพลังของความคิดมีผลกับเรามากกว่าที่คิดและคนจำนวนไม่น้อยมักจะกลัว “ความคิดคนอื่น”
ลองสังเกตไม่ว่าจะทำสิ่งไหน หรือตัดสินใจอะไรก็แล้วแต่ เรามักคิดนำไปก่อนไหมว่า “คนอื่นจะมองเรายังไง”
ถ้าย้ายงานไปแล้วครอบครัวจะผิดหวังไหมจะมีคนมองว่าเราหนีปัญหา เป็นคนขี้แพ้หรือเปล่า

เชื่อว่าลึกๆ ทุกคนมีเป้าหมาย มีสิ่งที่ตัวเองอยากทำแต่ยังไม่กล้าทำเพราะกลัวความคิดคนรอบข้าง
เช่น ครอบครัวอยากให้หางานประจำที่มั่นคง แต่ตัวเรากลับชอบความยืดหยุ่นแบบ Freelance

หรือกลัวความคิดของเพื่อนว่าทำไมไม่หางานที่ดีกว่านี้ทั้งๆ ที่งานปัจจุบันทำให้เรามีความสุขกว่าที่อื่น
และอีกหลายครั้งที่เราปล่อยให้ความคิดคนอื่นมีผลมากกว่าความต้องการของตัวเอง
ก่อนที่จะลังเลเพราะกังวลถึงความคิดคนรอบข้างอย่าลืมว่าเหตุผลว่า “ทำไม” เราถึงอยากย้ายงาน
แล้วสารพัดความคิดเหล่านั้นที่ทำให้เรากังวลอยู่ ณ ตอนนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาของเหตุผลนั้นได้หรือเปล่า


3) กลัวปัญหาจาก “อายุ”

เมื่ออายุมากขึ้นการคิดจะทำหรือเปลี่ยนสิ่งใดคงต้องมีปัจจัยให้ต้องคิดอย่างรอบคอบมากขึ้น
โดยเฉพาะการตัดสินใจ “เปลี่ยนงาน” ตอนอายุมากที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายๆ ด้าน
ทั้งการเงิน  ครอบครัว ความมั่นคงหลังเกษียน ซึ่งมีปัญหาหลักๆ ที่ต้องพบเจอ ได้แก่

  • ยิ่งอายุมาก ก็อาจยิ่งหางานยากขึ้น
  • กลัวปรับตัวกับการทำงานแบบใหม่ไม่ได้
  • กลัวแบกรับ “ความเสี่ยง” ไม่ไหว

แต่ความจริงมีข้อมูลพบว่าคนที่ย้ายงานตอนอายุมากถือว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่
(อ้างอิงจาก American Institute for economic research)
เนื่องจากมีทั้งประสบการณ์ทำงาน คอนเนกชันที่หลากหลายหรือแม้แต่ทักษะที่ช่วยสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับองค์กร

วิธีจัดการกับความกังวลเมื่อต้องย้ายงานตอนอายุมากหากได้ข้อเสนอที่น่าสนใจเข้ามาแล้ว
ให้ลองนึกถึงข้อดีหรือจุดแข็งของตัวเองเยอะๆ เชื่อมั่นว่าถ้า Recruiter หรือ HR ได้ติดต่อเข้าไปแล้ว
ก็หมายความว่าเรา “ดีพอ” ที่จะทำงานได้แน่นอน แต่นอกจากนั้นก็อยู่ที่ว่าเราจะงัด “ของดี” มาใช้ได้แค่ไหน


4) กลัวการเริ่มจาก 0

สำหรับหลายคนการย้ายงานก็เหมือนกับการเริ่มต้นใหม่
ทั้งหน้าความรับผิดชอบ รูปแบบการทำงานที่ต้องปรับตัว ไหนจะสังคม หัวหน้า เพื่อนร่วมงานที่เรายังไม่คุ้นเคย
และการเริ่มต้นใหม่ให้ดีเราอาจจำเป็นต้องยอม “ทิ้ง” หลายสิ่งเพื่อมีพื้นที่สำหรับการเปิดรับและเรียนรู้ให้มากขึ้น
เช่น เราอาจเคยชินกับการทำงานในรูปแบบหนึ่งแต่พอย้ายงานเราก็ต้องปรับตัวกับระบบของที่ใหม่ได้

ดังนั้นการเริ่มต้นใหม่จึงเป็นหนึ่งในความกังวลที่หลายคนข้ามผ่านไปไม่ได้
เพราะบางครั้งมันก็ยากและน่าเสียดายที่จะต้องพาตัวเองออกจากจุดที่ทำได้ดีมาตลอดแล้วเริ่มต้นเรียนรู้ทุกอย่างใหม่จาก 0

แต่ความจริงการย้ายงานใหม่ไม่ได้หมายถึงการเริ่มต้นจาก 0 เสมอไป
เราสามารถนำทักษะที่มีอยู่ไปปรับใช้กับงานใหม่หรือแม้แต่สิ่งที่เราคิดว่าทำได้ดีตอนนี้
ไม่แน่ว่าในอนาคตก็อาจจะต่อยอดไปได้ไกลกว่าเดิมด้วยซ้ำ อย่าลืมว่าถ้าคุณสมบัติเราไม่ใช่ บริษัทก็คงไม่สนใจตั้งแต่แรก


5) กลัวความไม่แน่นอน

ทุกครั้งที่เปลี่ยนงาน ย่อมมากับความเสี่ยงแต่ในขณะเดียวกันถ้าเราไม่ลองเสี่ยงจะรู้ได้อย่างไรว่าแบบไหนคือตัวเลือกที่ดีกว่า
เราสามารถกำจัดความเสี่ยงให้ลดลงได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  1. มองความเสี่ยงให้เป็น “โอกาส”
  2. ค่อยๆ วางเป้าหมายแบบก้าวเล็กๆ
  3. เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ภายนอก Comfort zone
  4. อย่ามองข้ามความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะเดินบนเส้นทางใหม่ๆ แม้จะมาพร้อมความเสี่ยงที่เราอาจเจอความผิดหวัง
และหลายครั้งที่เราเติบโตหรือได้เรียนรู้สิ่งสำคัญอาจไม่ได้มาจากความสำเร็จเสมอไป
แต่เกิดขึ้นมาจากคำว่า “ล้มเหลว” ได้เช่นกัน

มองหาโอกาสใหม่ๆ กับเส้นทางที่ใช่ในองค์กรที่ชอบ
ฝากโปรไฟล์ไว้กับเรา Reeracoen Recruitment

อ่านบทความเพิ่มเติมที่:
3 ผลกระทบจากการ WFH ที่หัวหน้างานต้องรับมือ
เริ่มงานใหม่ให้ปังตั้งแต่ 3 เดือนแรกด้วยการกำหนดเป้าหมายแบบ 30-60-90

แปลและเรียบเรียงจาก:  http://bit.ly/3Mou9ry 

#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment
#Career #SelfImprovement