Build-Break-Build ทักษะการ “ชื่นชมเพื่อพัฒนา”

How to?September 01, 2022 15:54

 

ไม่มีใครชอบโดนด่า! ความมั่นใจไม่ได้เกิดจากคราบน้ำตา
รู้จักเทคนิค Build-Break-Build ทักษะการ “ชื่นชมเพื่อพัฒนา”

Reeracoen Thailand ขอแชร์ 3 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อการทำงานอย่างราบรื่น ผ่านทักษะ Build-Break-Build ที่ฝึก 1 ได้ถึง 3
ได้ทั้งไอเดีย บรรยากาศไม่เสีย และยังช่วยสร้างความมั่นใจ เอาอยู่ทุกงานไม่ว่าจะประชุม ประเมินผล โดยไม่ต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่
เพราะคนเราจะเติบโตได้ ไม่จำเป็นต้องตำหนิเพียงอย่างเดียว

เบื่อไหมกับการประชุมที่ไม่เคยได้ข้อสรุป งานที่ยังไม่ดีพอ ลูกน้องทำงานไม่ได้ตามความคาดหวัง แต่ “ไม่รู้จะบอกยังไง”
ถ้าตำหนิก็คงเสียบรรยากาศ และความมั่นใจ เลยเลือกที่จะเงียบเพราะไม่อยากทำให้รู้สึกแย่ต่อกัน
สุดท้ายเลยต้องเหนื่อยใจกว่าเดิมเพราะงานไม่เดิน บรรยากาศก็ตึง ทนอึดอัดใจต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับลูกโป่งที่รอวันระเบิด

แต่ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ด้วย “ทักษะการสื่อสารที่ดี”

หลายคนอาจคิดว่าการบอกตรงๆ ก็ไม่คงไม่เสียหาย เพราะงานคืองาน มืออาชีพควรแยกแยะได้ แต่เคยได้ยินไหมว่า “เมื่อมั่นใจ ทำอะไรก็ดี”

ความมั่นใจคือแรงขับเคลื่อนภายในที่กระตุ้นให้เราไปถึงความสำเร็จที่วางไว้ เหมือนกับความเชื่อ
หากเราเชื่อในความสามารถ เชื่อในวิธีการและเป้าหมาย เราจะเดินหน้าทำมันอย่างเต็มที่
ซึ่งเราควรรักษาเอาไว้ให้ดี อย่าปล่อยให้ความมั่นใจถูกทำลายลงไปง่ายๆ

กับการทำงานก็เช่นกัน แม้เราจะหวังดี อยากให้งานออกมาเรียบร้อย แต่หากเราไม่รู้จักฝึกวิธีการสื่อสาร
ใช้คำพูดแรงๆ ไปทำลายความมั่นใจคนอื่น ก็ควรปรับแก้ไข อย่าลืมว่าความหวังดี ก็สามารถมาคู่กับการใช้คำพูดดีๆ ได้ด้วย
เพราะเราเองก็คงไม่ชอบที่จะถูกตำหนิ ดุด่า ทำลายความมั่นใจ จริงไหม?

ฝึกทักษะ Build-Break-Build ชื่นชมเพื่อพัฒนา ง่ายๆ 3 ขั้นตอน
เริ่มต้นด้วยคำชม หาจุดพัฒนา และชื่นชมอีกครั้งเมื่อจบงาน ดังนี้


Build: “ไอเดียนี้ดีนะ!”

เมื่อมีใครนำเสนอไอเดียที่อาจจะยังสามารถพัฒนาได้อีก สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่การสวนกลับไปว่า ห่วย ใช้ไม่ได้ หรือตำหนิให้เขาเสียความมั่นใจ
แต่ควรเริ่มต้นการพูดคุย เข้าหาด้วยทัศนคติเชิงบวก ซึ่งจะช่วยให้คู่สนทนารู้สึกดี เหมือนว่าเรายืนอยู่ฝั่งเดียวกัน และพร้อมเปิดใจรับฟังมากขึ้น

แต่หากเราเข้าหาด้วยคอมเมนต์เชิงลบในทันที จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกปิดกั้น และเป็นการผลักให้เขาออกไปยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม จนบรรยากาศเสียในที่สุด


Break: “จากตรงนี้เราลองปรับไปแบบไหนได้บ้าง”

เมื่อเราสามารถมีพื้นที่ในใจของอีกฝ่าย เข้าไปยืนในฝั่งเดียวกันกับเขาได้แล้ว
ขั้นตอนต่อมาคือการจับจุดที่สามารถต่อยอดได้ ใช้วิธีการสื่อสาร แสดงความสนใจ ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราไม่ได้มาตำหนิ
แต่ต้องการมีส่วนร่วมให้ไอเดียนั้นๆ พัฒนาไปในทิศทางที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น


Build: “ดีมากเลย ขอบคุณนะ”

และขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้สองข้อแรก คือการ “ชื่นชม” อีกครั้ง สำหรับไอเดีย ความพยายาม ที่อีกฝ่ายมอบให้
ซึ่งเป็นการปิดท้ายเชิงบวกให้อีกฝ่ายรู้สึกดี มีกำลังใจ และมั่นใจที่จะทำงานต่อไปอย่างเต็มที่

โดยเทคนิค Build-Break-Build สามารถปรับใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะการประชุมหาไอเดียจากคนจำนวนมาก (Brainstorming)
และการประเมินผลงานของลูกทีม (Performance Feedback) ซึ่งล้วนจำเป็นต่อการทำงาน ในฐานะ “เครื่องมือประเมินสถานการณ์”
ทำให้รู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางในการทำงานต่อในอนาคต

หากเรามีทักษะการสื่อสารที่ดี จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาขัดแย้งได้ ฝึก 3 ขั้นตอนง่ายๆ ที่สามารถทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป
จบปัญหาบรรยากาศตึงเครียด งานไม่ราบรื่น พลิกวิกฤติเป็นโอกาสผ่านคำพูดดีๆ แค่ “ชื่นชม ให้คำแนะนำ และขอบคุณ”

เมื่อสิ่งที่สำคัญของคนทำงานคือความมั่นใจ เราจึงต้องทำความเข้าใจ และรู้จักวิธีการเข้าหาที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องใช้ตำหนิ ดุด่าแรงๆ คนเราก็พัฒนาได้
เพราะต้นไม้ไม่ได้เติบโตจากน้ำกรด แต่เกิดจากการรดน้ำและให้ปุ๋ยด้วยความเข้าใจ

ติดตามบทความที่น่าสนใจ:
จากสำคัญ แต่ปัจจุบันไร้ตัวตน! รู้จัก Stealth Demotion เมื่อเราไม่ได้รับ “ความไว้ใจ” อีกต่อไป

ถ้าไม่อยากทำงาน ก็คิดซะว่าทำเพื่อเงิน! ลอง 6 วิธีจุดไฟการทำงานให้ลุกโชนในช่วง Burnout

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
https://bit.ly/3AzTaZs
https://bit.ly/3B1Cqvm 

#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand
#Leadership #Psychology #Selfdevelopment #Inspiration #Stealthdemotion