6 วิธีจุดไฟในช่วง Burnout

How to?July 26, 2022 17:00

 

ถ้าไม่อยากทำงาน ก็คิดซะว่าทำเพื่อเงิน! ลอง 6 วิธีจุดไฟการทำงานให้ลุกโชนในช่วง Burnout


เมื่อเราทำงานมานานๆ จนถึงช่วง “หมดไฟ” จากความรู้สึกตื่นเต้น ท้าทาย ก็เปลี่ยนไปเป็นความเบื่อหน่าย ไม่อยากทำงาน ไปจนถึงขั้นเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเส้นทางอาชีพ ไม่อยากอยู่ในสายงานนั้นๆ  ปัญหาที่จะตามมาจากภาวะ Burnout คือ “ความเสี่ยงต่ออนาคต” ที่เกิดขึ้นจากหน้าที่การงาน บทความนี้ Reeracoen Thailand จะมาแชร์วิธีในการจุดไฟ ดึงตัวเองขึ้นมาจากหลุมแห่งความ Burnout!


“โอย ไม่อยากทำงาน ลาออกเลยดีไหม!?”


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในภาวะ Burnout หมดไฟในการทำงาน แต่ยังมีภาระค่าใช้จ่าย ต้องหาเงินมาเลี้ยงชีพ
ถึงเวลาดึงตัวเองกลับขึ้นมาจากหลุมแห่งความเหนื่อยล้า ด้วย 6 วิธีจุดไฟในการทำงาน ปลุกใจหาเงินไปใช้ชีวิต!

 

Burnout Syndrome


หรือโรคหมดไฟในการทำงาน เกิดจากความเครียดที่สะสมเรื้อรัง ไม่ว่าจะปริมาณงาน สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน โดนบีบด้วยเวลา งานที่ทำไม่น่าภูมิใจ ผลตอบแทนไม่สมน้ำสมเนื้อ ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็น “โรค” ชนิดหนึ่งอย่างเป็นทางการโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยกระทบต่อการทำงาน 3 ด้าน หลักๆ อาทิ

1) เหนื่อยล้า ขาดแรงจูงใจ ไม่มีอารมณ์ทำงาน

2) มีทัศนคติแง่ลบต่องานที่ทำอยู่

3) ประสิทธิภาพลดลง เริ่มออกห่างจากสังคมที่ทำงาน


ปัญหาที่จะตามมาจากภาวะ Burnout คือ ความเสี่ยงต่ออนาคต ที่เกิดขึ้นจากหน้าที่การงาน เมื่อไรก็ตามที่ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ซ้ำยังไม่สามารถดึงตัวเองขึ้นมาจากทัศนคติลบๆ ได้ และหากไม่รีบแก้ไข ผลที่ตามมาอาจจะทำให้เราถูกตักเตือน พักงาน หรือแม้กระทั่ง “เชิญออก” ซึ่งปัญหาจากการว่างงาน นอกจากจะทำลายกำลังใจ ยังรวมถึงภาระการเงินที่ต้องรับผิดชอบอีกสารพัด ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกเริ่มที่จะ “หมดไฟ” ในการทำงาน ต้องรู้จักวิธีในการจุดไฟ ดึงตัวเองขึ้นมาให้ได้!


บทความเรื่อง 6 Ways to Ease Yourself Back Into Work After Burnout จากเว็บไซต์ Psychologytoday ได้แนะนำวิธีที่น่าสนใจในการจุดไฟในการทำงาน
ให้กลับมาลุกโชนอีกครั้งหลังผ่านพ้นภาวะ Burnout ดังนี้


1) รู้จัก “รับฟังตัวเอง” ให้มากขึ้น


ทุกครั้งที่เราเริ่มจะหมดไฟ ร่างกายมักมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เพียงแต่ถูกมองข้ามไปง่ายๆ เหมือนกับเส้นผมบังภูเขา เช่นการที่เรารู้สึกว่า “เหนื่อย” แต่มีงานให้ทำอีกเยอะเหลือเกิน ซึ่งจุดนี้บ่งบอกถึงสภาพร่างกาย และจิตใจของเราที่อาจจะขาดการพักผ่อน หรือเกิดความไม่สมดุลระหว่างการพักผ่อน - การทำงาน

เราควรรับฟังตัวเองให้มากขึ้น ทั้งสภาพร่างกาย และสิ่งที่กำลังคิดอยู่ในใจ อย่าปล่อยผ่านไปเหมือนว่าไม่มีความหมาย เพราะสุดท้ายแล้วกว่าเราจะรู้ตัวก็อาจจะสายเกินแก้


2) จดจำวิธีกระตุ้น “อะดรีนาลีน” ในการทำงาน!


ยังจำความรู้สึกตื่นเต้น ท้าทายจากงานในช่วงแรกๆ ได้อยู่ไหม อะไรที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น?
เมื่อเราเจอความท้าทาย อะดรีนาลีนในร่างกายจะหลั่ง ซึ่งทำให้เรารู้สึกดี สนุก ตื่นเต้น แถมยังปลดล็อกพลังแฝงในตัวเองให้ทำงานได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ


หากเราสามารถจดจำ “เงื่อนไข” ที่จะทำให้ตัวเองปลดปล่อยอะดรีนาลีน ดึงความรู้สึก “สนุก” ในการทำงานกลับมาได้ ก็จะช่วยให้ตัวเองมีท้าทายไปตลอดชีวิตการทำงาน เช่น เราอาจจะต้องมีโปรเจกต์ใหม่นอกเหนือจากงานเดิมๆ เข้ามาเป็นระยะ เพื่อพัฒนากรอบทักษะที่เคยมี กระตุ้นการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา


3) อย่าเพิ่ง “รับปาก” ว่าทำได้


เมื่อเราเริ่มหลุดออกมาจากช่วงเวลาของความเหนื่อยล้า เป็นปกติที่เราจะมีความกระหายในการทำงานเพิ่มขึ้น
ซึ่งจุดนี้แหละที่หลายๆ คนมักจะพลาดไป “ขุดหลุมฝังตัวเอง” เพราะความจริงตัวเรายังไม่หายเหนื่อยจริงๆ แต่กลับไปรับงานเข้ามาเพิ่ม ซึ่งส่งผลให้เราต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง โดยที่มีเวลาพักน้อย ยิ่งตอกย้ำอาการ Burnout ด้วยปริมาณงานที่ไม่เคยลดลงไปสักที!


4) ฝึกวิธีจัดการความเครียดในวันทำงาน


หลายคนมักคิดว่าการพักผ่อนจำกัดอยู่แค่ในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เรา Burnout เพราะรู้สึก “พักผ่อนไม่เพียงพอ”
ได้หยุดแป๊บเดียว กะพริบตาสองทีพรุ่งนี้วันจันทร์อีกแล้ว! ลองเปลี่ยนมาทำให้วันทำงาน ก็สามารถพักผ่อนได้ เช่นการใช้เวลาพักช่วงเที่ยงคลายเครียดจากงานในช่วงเช้า
หาอะไรที่ชอบทำ คุยกับเพื่อน ให้พาตัวเองออกมาจากงานบ้าง


5) สร้างกฎสำหรับตัวเอง
 

“ถ้ายังมีงานในมือ อย่ารับงานเร่ง” “หยุดทำงานเมื่อถึงเวลาเลิกงาน” และ “อย่าตอบอีเมลในวันหยุด”

หัดตั้งกฎที่จะรักษาสมดุล Work life balance ของตัวเองให้ได้ อย่าปล่อยให้ชีวิตทั้งหมดถูกตีกรอบด้วยการทำงาน โดยเริ่มต้นจากความเหมาะสมของเป้าหมายที่ต้องทำในแต่ละวัน (Daily Tasks) จากนั้นค่อยๆ ขยายขอบเขตเป็นต่อสัปดาห์ เดือน และปี จะทำให้เราเห็นภาพกว้าง โดยที่รักษาสมดุลชีวิตรายวันไปพร้อมกัน


6) เรียนรู้ที่จะ “ยืดหยุ่น”


หลังจากที่มีการตั้งกฎในการทำงานแล้ว สิ่งที่ควรทำต่อก็คือการรู้จักความยืดหยุ่น เพราะการเคร่งทำตามกฎตลอดเวลา ก็สามารถพาเราเข้าไปหาความเครียดได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อเราจัดการสมดุล Work life balance ให้เข้าที่ได้แล้ว ลองถอยออกมาดูว่ามีช่วงเวลาไหนที่เราสามารถทำอะไรเพิ่มได้หรือเปล่า และถามใจตัวเองว่า “ต้องการที่จะทำไหม” เพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปอยู่ในวงจรของความ Burnout อีกครั้ง


และหากวิธีที่กล่าวมายังไม่เวิร์ก ก็จะเหลือวิธีสุดท้ายอย่าง “แรงกระตุ้น” หาอะไรก็ได้ที่จะทำให้เรามีแรงฮึดไปทำงานได้ทุกวัน เช่นตั้งเป้าหมายใหญ่ที่จำเป็นต้องอาศัย “เงิน” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ก่อหนี้” เพราะไฟที่ร้อนแรงที่สุด คือหนี้ที่ต้องจ่ายในทุกๆ เดือน อย่างที่เรารู้กันว่ามีงาน = มีเงิน


บทความที่น่าสนใจ
กับดักของ PEOPLE PLEASER ในที่ทำงาน ยอมไปเรื่อย รับปากไปงั้น แต่งานไม่เดิน!

ไม่ได้เปลี่ยนไป แค่ไม่มีเวลา! วิธีดูแลความสัมพันธ์ ในวันที่งานล้นมือ


แปลและเรียบเรียงจาก:
https://bit.ly/3vfs7AL

 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
https://bit.ly/3zaesfy


#ReeracoenRecruitment
#ReeracoenThailand