รู้จัก Stealth Demotion เมื่อเราไม่ได้รับ “ความไว้ใจ” อีกต่อไป

How to?August 31, 2022 16:57

 

จากสำคัญ แต่ปัจจุบันไร้ตัวตน!
รู้จัก Stealth Demotion เมื่อเราไม่ได้รับ “ความไว้ใจ” อีกต่อไป

ทำอย่างไรเมื่อจู่ๆ ก็รู้สึกเหมือน “อำนาจลดลง” ทั้งๆ ที่ตำแหน่งงานก็คงเดิม?
จากที่เมื่อก่อนมีสิทธิตัดสินใจ ทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับ ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่
แต่ปัจจุบันบทบาทเหล่านี้กลับค่อยๆ ถูกถอดออกไปเรื่อยๆ จนต้องตั้งคำถามในใจว่าเกิดอะไรขึ้น

หากคุณกำลังเจอกับปัญหานี้ ถึงเวลารู้จักกับ Stealth Demotion กลไกการ “ลดบทบาท” ถูกยึดอำนาจ
มีความสำคัญน้อยลงโดยที่ตำแหน่งคงเดิม ซึ่งเรามักจะไม่รู้ตัว และเป็นสัญญานอันตรายที่หมายถึงหัวหน้าเริ่มไม่ไว้ใจ!

 

หากเราไม่สามารถมีสิทธิตัดสินใจอะไรเองได้ หรือสูญเสียบทบาทของเราไปให้กับคนอื่น ก็เหมือนกับการถูกแช่แข็ง ดองไว้ที่เดิม
หรือแม้แต่ฉุดความก้าวหน้าทางอาชีพให้ถอยหลังลง เป็นการทำลายความมั่นใจอย่างหนัก รวมถึงพรากโอกาสในการทำงาน
กลายเป็นคนไร้ตัวตน พูดแล้วไม่มีใครฟัง และหากไม่รีบจัดการก็จะกระทบต่ออนาคตของเราด้วย

การถูกลดบทบาทลงกับบางคนอาจไม่มีปัญหา เพราะยังพอใจที่ได้เงินเหมือนเดิม งานน้อยลง
ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมายเหมือนเมื่อก่อน แต่สำหรับคนที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น มองหาโอกาสเติบโต ต้องการความสำเร็จ
การถูกลดบทบาทคงไม่ต่างอะไรกับการ “บีบให้ออก” เพราะเหมือนเป็นคนที่ทำงานไปวันๆ รอรับเงินเดือน โดยไม่รู้ว่าจะมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพอีกไหม

ดังนั้นหากไม่อยากกลายเป็น “คนไร้ตัวตน” ซึ่งยากที่จะเติบโตในหน้าที่การงาน เราต้องรู้จักวิธีรับมือเมื่อถูกลดบทบาท
ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย เพราะรู้ตัวอีกทีอนาคตที่สดใสก็อาจไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว


บทความจาก Psychologytoday.com ได้แนะนำขั้นตอนรับมือ เมื่อเราต้องเผชิญกับ Stealth Demotion
โดยเริ่มจาก


1) เช็คบทบาทของตัวเอง

ถามตัวเองง่ายๆ ว่าทุกวันนี้ยังมีสิทธิตัดสินใจ ทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบได้เหมือนเดิมไหม
หากคำตอบคือ “ไม่แน่ใจ” อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังค่อยๆ ถูกลดบทบาทไปโดยไม่รู้ตัว

ต้องมีการพูดคุยกับหัวหน้าอย่างจริงจังถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และหากไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน
ก็เป็นไปได้สูงว่าเราถูกลดบทบาท ซึ่งต้องหาสาเหตุเพื่อแก้ไขต่อไป อาจเกิดจากผลงาน
ความประพฤติ หรือคุณสมบัติต่างๆ ของเราที่ไม่ตรงกับความคาดหวังขององค์กร


2) ทำความเข้าใจสาเหตุที่เกิดขึ้น

หากคุณรู้สึกว่าไม่เข้าใจ หรือไม่โอเคกับการตัดสินใจของหัวหน้า ก็ต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดจากตัวเราเอง ไม่ว่าจะคุณสมบัติ ประสิทธิภาพการทำงาน ทัศนคติ แนวทางที่ยังไม่เป็นไปตามความคาดหวังขององค์กร

ย้อนกลับไปดูว่าเราทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีพอหรือยัง เรามีภาวะผู้นำ หรือเป็นตัวอย่างที่ดีให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน
เคยมีส่วนร่วมปรับปรุงพัฒนาองค์กรไปในทิศทางใหม่ๆ อย่างไรบ้าง


เพียงแค่ไม่กี่ข้อเราก็จะเห็นว่าตัวเองดีพอ เหมาะสมแค่ไหนกับโอกาสที่ได้รับ หรือถ้าเรามั่นใจในความสามารถ เป็นแบบอย่างที่ดี ทำงานเต็มที่มาตลอด
และไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของหัวหน้า ก็ต้องพูดคุยถึงสาเหตุที่แท้จริงอย่างตรงไปตรงมา อย่าปล่อยให้เป็นความสงสัยที่ติดอยู่ข้างใน
จนความเชื่อใจกระทบต่องานในอนาคต


3) พิจารณาหา “ทางออก”

หากพูดคุยถึงสาเหตุแล้วเราไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจลดบทบาทที่เกิดขึ้น ขั้นตอนถัดมาคือการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเราไม่โอเค
เพราะคนส่วนมากแม้ในใจจะไม่เห็นด้วย แต่ก็มักจะไม่กล้าพูดคุย เพราะด้วยตำแหน่งหน้าที่ อำนาจการตัดสินใจที่ต่างกัน
สุดท้ายก็ยอมปล่อยเลยตามเลย โดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อยอมหนึ่งครั้ง ก็จะติดนิสัยยอมไปตลอด กลายเป็นคนรักษาสิทธิของตัวเองไม่เป็น

เราต้องรักษาคุณค่าในตัวเองด้วยการแสดงออกให้ชัดเจน มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง ฝึกต่อรอง เรียกร้องข้อเสนออื่นๆ เพื่อรักษาสิทธิของเรา
และสุดท้ายหากตกลงร่วมกันไม่ได้ อาจถึงเวลาวางแผนย้ายไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในที่ที่สามารถผลักดันเราได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น

 

ติดตามบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ทุ่มเทแค่ไหน ก็ไม่เติบโต? รู้จัก Professional Blind Spot และกับดัก 3 ข้อที่ทำให้เราไม่ก้าวหน้าสักที
ไม่ลองไม่รู้ และถ้าไม่สู้ก็ไม่ชนะ บทเรียนเจ้าสังเวียน “โคตะ มิอุระ”

 

แปลและเรียบเรียงจาก:
https://bit.ly/3Ath0px 

#ReeracoenRecruitment
#ReeracoenThailand
#Leadership #Psychology #Selfdevelopment #Inspiration
#Stealthdemotion