Introvert เข้าสังคมอย่างไร โดยไม่สูญเสีย ‘พื้นที่ส่วนตัว’

How to?September 07, 2022 16:48

 

ไม่ได้หยิ่ง! แค่อยู่กับคนแล้วเหนื่อย
Introvert เข้าสังคมที่ทำงานอย่างไรโดยไม่สูญเสีย ‘พื้นที่ส่วนตัว’

A: (คิดในใจ) ไม่ทักใครเลย หยิ่งจริงๆ
B: (คิดในใจเช่นกัน) ไม่ได้หยิ่ง แค่มันเหนื่อย!

ทำไมเพื่อนร่วมงานถึงไม่ชอบเข้าออฟฟิศ
ทำไมลูกทีมเลี่ยงการทำกิจกรรมของบริษัท
ทำไมบางคนถึงเก็บตัว ไม่พูดคุยกับคนอื่นๆ เลย

หลายสถานการณ์ที่ Introvert มักถูกตั้งแง่ด้วยนิสัยส่วนตัวที่เงียบๆ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร
หรือพูดง่ายๆ ว่า “โลกส่วนตัวสูง” เข้ากับคนอื่นยาก ดูไม่น่าจะทำงานด้วยได้ง่าย

ซึ่งความเข้าถึงยากนี้นอกจากยากต่อการทำความรู้จัก บางครั้งยังเป็นจุดที่สร้างความอึดอัดให้กับการทำงาน
ด้วยความ ‘ไม่รู้’ จะเข้าหาหรือจัดการยังไง จากทั้ง 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งไม่รู้จะเข้าหายังไง กลัวที่จะล้ำเส้นพื้นที่ส่วนตัว ในขณะที่อีกฝ่ายก็ไม่รู้จะคุยยังไง กลัวพูดอะไรไปแล้วทำให้เข้าใจผิด

ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับชาวออฟฟิศสาย Introvert เพื่อการทำงานที่ราบรื่นโดยไม่ต้องข้ามเส้น ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ของกันและกัน

สำหรับคนทั่วไปการเจอคนเยอะๆ คงไม่มีปัญหาอะไร แต่กับชาว Introvert การเข้าสังคมที่ทำงาน อยู่ในที่ประชุมหรือทำงานกับคน
คือเรื่องยากที่สุดเพราะจะ ‘เหนื่อย’ แทบทุกครั้งเมื่อต้องเจอคนเยอะๆ กับบางคนการประชุม 1 ชั่วโมงนั้นเหนื่อยยิ่งกว่าทำงานทั้งวัน
งั้นก็ขอเอาเวลาไปเหนื่อยกับงาน แยกไปทำอยู่คนเดียวจะดีกว่า

แต่ปัญหาคือเมื่อบริษัทไม่ได้มีแค่เรา และงานบางอย่างก็ทำคนเดียวไม่ได้
แล้วจะทำอย่างไรให้ความเป็น Introvert ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

ถึงเวลาทำความเข้าใจและวิธีสานสัมพันธ์จากทั้งสองฝ่ายผ่านการกระทำเล็กๆ เพื่อให้การทำงานราบรื่น

เริ่มจากการเข้าใจตัวตน Introvert แต่ละแบบ

1) Social Introvert

ไม่ค่อยต่างจากคนทั่วไป เข้าสังคมได้ในกลุ่มเล็กๆ มีความสุขเมื่อได้อยู่กับกลุ่มคนที่สนิท แต่บางครั้งจะดูเหมือน ‘หยิ่ง’ เพราะไม่ค่อยพูดกับคนที่ไม่คุ้นเคย

2) Thinking Introvert

กลุ่มคนที่ชอบใช้เวลาอยู่กับ ‘ความคิด’ ของตัวเอง สามารถจินตนาการและมีความสุขไปกับการได้คิด วางแผน

3) Anxious Introvert

มักจะอึดอัด กดดันเมื่อต้องอยู่หรือทำอะไรต่อหน้าคนอื่นเนื่องจากความกังวล ไม่ค่อยกล้าที่จะเข้าสังคมเพราะความ ‘ประหม่า’ ไม่มั่นใจในตัวเอง

4) Restrained Introvert

ระมัดระวังตัวเองสูง ใช้เวลาเตรียมตัวนานกว่าจะลงมือทำ ซึ่งทำให้ยาก เมื่อต้องทำการตัดสินใจแบบทันที

เมื่อเรารู้จักบุคลิกของ Introvert แต่ละประเภทแล้ว ต่อมาเราก็จะสามารถจับจุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อปรับวิธีเข้าหาและจัดการอย่างเหมาะสมมากขึ้น
ในขณะที่ชาว Introvert เองก็สามารถปรับตัวให้เข้าถึงง่ายขึ้น ด้วยการแสดงออกถึงความเป็นมิตรในแบบฉบับของตัวเอง

ทำงานร่วมกับทุกคนได้โดยที่ไม่ต้องอึดอัดใจ เริ่มจาก

1) ถ้าไม่ถนัดพูด ก็ใช้การพิมพ์

หากรู้สึกเหนื่อยที่ต้องพบปะ พูดคุย อยู่ต่อหน้าคนเยอะๆ แต่จำเป็นต้องติดต่องาน จัดการประชุม ก็ลองใช้ ‘เครื่องมือสื่อสาร’
ไม่ว่าจะเป็นแช็ตส่วนตัว หรือแช็ตงานทดแทนการเจอซึ่งหน้าดู

ปัจจุบันหลายบริษัทใช้นโยบาย Hybrid Working หรือบางที่อาจไม่ต้องเข้าออฟฟิศเลย คุยงาน เข้าประชุมก็ทำได้ผ่านทางออนไลน์
ซึ่งเป็นผลดีต่อชาว Introvert แต่ก็ยังมีหนึ่งสิ่งที่ต้องระวังคือเมื่อใช้การ ‘แช็ต’ แทนการ ‘เจอ’
ปัญหาคือเราไม่สามารถรับรู้สีหน้า อารมณ์ของคู่สนทนาผ่านตัวอักษรได้!
ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการสื่อสารที่ชัดเจน และเลือกใช้ข้อความเชิงบวก แสดงออกถึงความเป็นมิตร เลี่ยงการสร้างความเข้าใจผิดจนเกิดปัญหาในอนาคต
ก็ช่วยให้ดูเป็นเข้าถึงง่าย พูดคุยด้วยไม่ยากอย่างที่คิด

2) สื่อสารอย่างมีกลยุทธ์

เมื่อ Introvert อาจเป็นคนประเภท ‘พูดไม่เก่ง’ บางครั้งก็ทำให้ใช้คำพูดไม่ค่อยเป็นหรือใช้คำน้อยไปนิด
จนดูเหมือนเป็นคนห้วนๆ พูดจาขวานผ่าซาก พุ่งตรงไปที่ประเด็นในทันที ซึ่งเราสามารถปรับการสื่อสารให้ดูซอฟต์ลงได้

แทนที่จะพุ่งตรงไปที่ประเด็น ซึ่งบางครั้งเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และสร้างความร้าวฉานได้ง่าย ลองเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง
จากคนคอมเมนต์เป็นเพื่อนที่อยากจะให้ความช่วยเหลือด้วยการ ‘ทักทาย’ และ ‘ชื่นชม'
เช่น “สวัสดี งานนี้น่าสนใจมากเลยนะ นี่เป็นส่วนที่เราว่าน่าจะปรับพัฒนาได้ สู้ๆ !”

3) รู้จักใช้ภาษากาย

เมื่อต้องเข้าประชุม หรือทำกิจกรรมแล้วเราไม่รู้จะพูดอะไร ทำตัวแบบไหน หลายคนก็เลยเลือกที่จะเงียบจนเหมือนกับหายตัวไป
เป็นสาเหตุที่ถูกมองว่าไม่มีส่วนร่วม ไม่ให้ความสนใจ ดูหยิ่งและเข้าถึงยาก ทั้งๆ ที่เจตนาไม่ได้เป็นแบบนั้น

แก้ปัญหาด้วยการใช้ภาษากายให้เป็นประโยชน์โดยไม่จำเป็นต้องใช้คำพูด ทำให้คนอื่นๆ รับรู้ว่าเราให้ความสนใจและต้องการมีส่วนร่วม
ผ่านสีหน้า ท่าทาง เช่นการพยักหน้า

4) แบ่งเวลาเพื่อสานความสัมพันธ์

หลายๆ ครั้งในที่ประชุม เรามักลืมที่จะพูดคุยถามไถ่ความเป็นไปของกันและกันเพราะกลัวที่จะเสียเวลา มองว่ารีบประชุม แยกย้ายไปโฟกัสงานจะดีกว่า
ในมุมหนึ่งก็เป็นข้อที่ดีที่เราจะได้มีเวลาโฟกัสกับงานมากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นเหมือน ‘ดาบสองคม’ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ห่างเหินได้
เพราะทุกคนก็จะสนใจเฉพาะงาน และขาดการมีส่วนร่วมในภาพรวมจนรู้สึกว่าการประชุมนั้น ‘เสียเวลา’

ดังนั้นในการประชุมนอกจากเพื่อระดมไอเดีย อัปเดตงานในส่วนต่างๆ เราอาจลองจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งในการพูดคุยชื่นชม
ทั้งเรื่องงานและความสำเร็จต่างๆ สร้างความสัมพันธ์ ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมต่อกันในฐานะทีม

ติดตามบทความที่น่าสนใจ:
คนหน้าตาดี มีโอกาส ‘สำเร็จ’ มากกว่าจริงไหม
Build-Break-Build ทักษะการ “ชื่นชมเพื่อพัฒนา”

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
https://wb.md/3D1nH5h 
https://bit.ly/3KTzAfs  

#ReeracoenRecruitment
#ReeracoenThailand
#Psychology #Selfdevelopment #Inspiration #Introvert