6 ขั้นตอนสร้างวัฒนธรรมการ Feedback ให้คนในทีม

How to?March 24, 2023 18:31


6 ขั้นตอนสร้างวัฒนธรรมการ Feedback ให้คนในทีม

ไม่ใช่แค่ลูกทีมหรือพนักงานระดับ Junior Level เท่านั้น
ที่สามารถเป็นฝ่ายได้รับ Feedback จากหัวหน้างาน เพราะ “ทุกคน” จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา
ดังนั้นในฐานะหัวหน้าหรือผู้นำเราจะมีวิธีการอย่างไรให้ตัวเองได้รับ Feedback จากคนในทีมแบบตรงไปตรงมา
เพื่อไม่ให้ตัวเอง “ย่ำอยู่กับที่” และมองหาโอกาสพัฒนาผ่านจุดอ่อนเหล่านั้น

การ Feedback ที่มีประสิทธิภาพนอกจากจะชี้ให้เห็นจุดที่ควรปรับปรุง
ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างคนในทีม ทุกคนสามารถเติบโตไปพร้อมกันและพร้อมช่วยกันผลักดันให้งานออกมาดีที่สุด

เชื่อว่าทุกคนคงอยากรู้ว่าการทำงานที่ผ่านมาเราทำได้ดีแค่ไหน หรือยังมีอะไรที่พัฒนาได้อีก
แต่กลับกัน “ผู้นำ” กลับเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในการได้รับ Feedback เหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา
เพราะในทางปฏิบัติคงไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะพูดถึงข้อเสียของคนที่เป็นหัวหน้าแบบตรงๆ

ซึ่งหากคุณกำลังเจอปัญหาไม่ค่อยได้รับ Feedback ที่ตรงไปตรงมา
นี่คือ 6 ขั้นตอนการสร้างวัฒนธรรม Feedback ให้คนในทีมจาก Harvard Business Review

1) เปิดใจยอมรับว่าเรื่องไม่ดี คือเรื่องดี!

เป็นเรื่องยากที่เราจะรู้สึกดีใจเวลาได้รับฟังเรื่องที่เป็น “ข้อเสีย” ของตัวเองซึ่งเป็นสิ่งมักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับหัวหน้าทีม

หากตลอดเวลาการทำงานที่ผ่านมาเราไม่ได้รับการ Feedback ในจุดที่ต้องพัฒนาก็อาจหมายความว่าเรากำลัง “ย่ำอยู่กับที่”
ไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นหากเรายังมีความรู้สึกที่ไม่ดีเมื่อได้รับ Feedback ถึงข้อเสียของตัวเอง
ลองเปลี่ยนมุมมอง “ข้อเสีย” เหล่านั้นให้เป็นโอกาสที่จะได้เห็นเส้นทางในการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
จำไว้ว่าเรื่องที่อาจทำให้รู้สึกไม่ดี คือเรื่องดีที่จะส่งผลดีกับตัวเรา!

2) ใช้คำถามแบบ “ปลายเปิด”

สำหรับคนในทีมอาจเป็นเรื่องยากที่จะกล้า Feedback หัวหน้าทีมแบบตรงไปตรงมา
ดังนั้นถ้าอยากได้รับการ Feedback ที่ตรงจุดจริงๆลองเปลี่ยน “วิธีการสื่อสาร” และอาศัยเทคนิคหน่อย
ด้วยการใช้ “คำถามปลายเปิด” ที่เจาะจงมากขึ้น เช่น “ขอ 1 สิ่งที่เราสามารถช่วยเหลือคุณได้”

ด้วยลักษณะของคำถามที่เจาะจงถึง “1 สิ่ง” นั้นเราจะมีโอกาสได้คำตอบที่สามารถทำได้เป็นรูปธรรม
รวมถึงอาจเป็นสิ่งที่เขากำลังมองหาจากเราจริงๆ มากขึ้น

3) หลักความเงียบ 6 วินาที

เคยไหมที่ถามเรื่องสำคัญหรือมีความจริงจังไปแล้วเป็นการทำให้บรรยากาศในห้อง “เงียบกริบ”

สาเหตุที่ทำให้การสนทนาเกิดความเงียบเป็นเพราะ “ความไม่สบายใจ” หรือไม่มั่นใจที่จะตอบ
ซึ่งหลายคนเลือกที่จะปล่อยผ่านด้วยคำว่า “ไม่เป็นไร” แต่ความจริงคือเราต้องอาศัยความอึดอัดนี้ให้เป็นประโยชน์!

หลังจากถามไปแล้วอีกฝ่ายเกิดเงียบเราต้องห้ามใจตัวเองและปล่อยให้เงียบต่อไปราว 6 วินาที
ซึ่งเป็นตัวเลขทางหลักจิตวิทยาโดยเฉลี่ยที่มนุษย์จะสามารถทนต่อความเงียบในการสนทนาได้
จนพยายามหาคำตอบของคำถามเราในที่สุด

4) ฟังให้เข้าใจ อย่าเพิ่งรีบปกป้องตัวเอง

สำหรับหลายคนอาจเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับเรื่องไม่ดีของตัวเองโดยที่ไม่หา “ข้อแก้ตัว”
หรือปกป้องตัวเองเพื่อให้ความผิดนั้นเบาบางลง

ซึ่งแน่นอนเมื่อเรา “แย้ง” ในสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังอธิบายก็ไม่แปลกที่เขาจะรู้สึกว่าเรากำลังโต้เถียง
หรือไม่ได้รับฟังในสิ่งที่เขาตั้งใจสื่อสารอย่างจริงใจ

ทางที่ดีเราควรรับฟังทั้งหมดด้วยความใจเย็นพยายามทำความเข้าใจข้อความของผู้พูด
เมื่อรับฟังจบก็ไม่จำเป็นต้องรีบโต้ตอบเพื่อปกป้องตัวเองและควรขอบคุณสำหรับความคิดเห็น แม้จะเห็นด้วยหรือไม่
จากนั้นก็นำสิ่งได้ไปตกผลึกกับตัวเองเพื่อพัฒนาต่อยอด

5) พยายามอย่าปล่อยผ่าน

เข้าใจว่าบางอย่างที่ถูก Feedback ออกมาอาจเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้หรือยังต้องใช้เวลา
ทำให้ดูเหมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นให้เห็น

แต่แม้จะทำไม่ได้ ก็ไม่ควรปล่อยผ่านเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เพราะถ้าไม่มีการอัปเดตหรือติดตามผลหลัง Feedback เลยอีกฝ่ายก็จะรู้สึกได้ว่าเรา “ไม่ใส่ใจ” ในสิ่งที่พวกเขาเสนอแนะ
และไม่มีประโยชน์ที่จะให้ Feedback ต่อในครั้งถัดไป

นำสิ่งที่ได้รับจากการ Feedback ครั้งก่อนกลับมาพูดถึงอีกครั้งเพื่อให้สมาชิกในทีมรู้ทั่วกันว่า
สิ่งเหล่านี้ได้รับการดูแลแก้ไขเท่าที่จะสามารถทำได้แล้ว

6) สร้างค่านิยม Feedback แทนที่ของการ “บ่น”

เมื่อการทำงานเกิดปัญหาเราจะพบว่ามันง่ายกว่าที่จะ “บ่น” กับใครสักคนมากกว่า “แก้ไข” ที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง
จนสุดท้ายกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่ถูกจัดการ แล้วเชื่อหรือไม่ว่าจากจุดเล็กๆ ในตอนนี้
อนาคตอาจเกิดเป็นปัญหา “การเมือง” เมื่อใครๆ ก็มา “บ่นลับหลัง” กันและกันอยู่ตลอด

โดยเราสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ด้วยการ Feedback กันอย่างตรงไปตรงมา
เพื่อทำให้ปัญหาที่มีถูกจัดการไปพร้อมๆ กันซึ่งส่งผลดีต่อคำว่า “Teamwork” ด้วยเช่นกัน

มองหาโอกาสใหม่ๆ กับเส้นทางที่ใช่ในองค์กรที่ชอบ
ฝากโปรไฟล์ไว้กับเรา Reeracoen Recruitment

แปลและเรียบเรียงจาก: http://bit.ly/3JtKcS1

#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment
#Career #SelfImprovement