8 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนตกลงเงินเดือน

Interview GuidelineOctober 28, 2022 19:04


คุณคาดหวัง “เงินเดือน” เท่าไร?
8 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนตกลงเงินเดือน

สมัครงานใหม่แต่ละครั้งหรือย้ายงานแต่ละที หนึ่งในเรื่องที่ต้องคิดหนักคงหนีไม่พ้น “ความคาดหวังต่อเงินเดือน” ซึ่งเป็นเหมือนคำถามวัดใจว่าเราจะตอบแบบไหน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเลขนั้นเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป?

เมื่อหลายคนไม่รู้ และไม่มีใครบอก! ด้วยประสบการณ์ในสายงาน Recruitment พร้อมฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อช่วยจับคู่ความต้องการของบริษัทและความคาดหวังของผู้สมัคร Reeracoen Thailand มีคำตอบพร้อมทริคง่ายๆ กับ 8 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนตกลงเงินเดือนมาฝากกันครับ


● เรื่องที่ 1: ควรกำหนดฐานเงินเดือนในใจ

เราไม่ควรไปสัมภาษณ์หรือยื่นสมัครงานแบบแบบตัวเปล่าๆ ใจลอยๆ ได้ข้อเสนออะไรมาก็รับหมด จนรู้ตัวอีกทีก็เสียผลประโยชน์ที่ควรได้ ดังนั้นจึงควรมี “ฐานเงินเดือนในใจ” ก่อนที่จะเริ่มสัมภาษณ์และไม่ควรรีบระบุไปตั้งแต่แรกถ้ายังไม่ทำการบ้านศึกษาข้อมูลมาดีจนแน่ใจแล้ว
 

● เรื่องที่ 2: วิธีคิด “ฐานเงินเดือน”

การคิดฐานเงินเดือนจะไม่ใช่การคิดตัวเลขลอยๆ แต่มาจากปัจจัยหลัก 4 ข้อ ได้แก่ ทักษะ ประสบการณ์ ตำแหน่ง สถานที่ทำงาน และเทรนด์สายอาชีพ
ซึ่งจะเป็นโครงสร้างหลักช่วยให้ภาพชัดขึ้นว่าเราควรได้เงินเดือนเท่าไร เช่น ถ้าที่ทำงานไกล ก็ควรเผื่อค่าใช้จ่ายและเวลาเดินทางให้ครอบคลุมมากขึ้น
หรือถ้าผ่านงานมาเยอะ จัดการงานเก่ง ก็สามารถเพิ่มค่าประสบการณ์เข้าไปได้

รวมถึงถ้าทักษะที่เรามีเป็นที่ต้องการ เป็นอาชีพที่อาศัยทักษะเฉพาะซึ่งมีคู่แข่งน้อย ยิ่งเป็นข้อได้เปรียบสำหรับผู้สมัครในการอัปเงินเดือนด้วย


● เรื่องที่ 3: ไม่ต้องรีบตอบ “ตัวเลข” ถ้าไม่แน่ใจ

บางครั้งด้วยความเร่งรีบหรือกดดัน เราก็มักจะทำพลาดไปแบบน่าเสียดาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้ตัวเองมากที่สุด เมื่อ HR หรือ Recruiter ถามถึงตัวเลขเงินเดือนที่คาดหวัง ถ้าเรายังไม่แน่ใจก็สามารถตอบเป็นขอบเขตกว้างๆ ไม่ใช่ตัวเลขที่เจาะจง หรือขอเวลาไปทำความเข้าใจเนื้องานก่อน ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำก่อนจะถึงขั้นตอน “ตกลงเงินเดือน” คือการศึกษาข้อมูล วางแผนให้ดี และอย่าลืมสิ่งเล็กๆ ที่มีความสำคัญ ซึ่งนำไปสู่ข้อถัดไป


● เรื่องที่ 4: สำรวจฐานเงินเดือนในตลาด

ถ้าไม่รู้ว่าจะกำหนดขอบเขตเงินเดือนด้วยอะไร มองไม่ออกว่าควรเรียกเท่าไร วิธีที่จะช่วยกำหนด “ฐานเงินเดือน” ให้ง่ายและเห็นภาพมากขึ้นคือการสำรวจฐานเงินเดือนของสายอาชีพในตลาด เช่นจากเว็บไซต์บริษัทจัดหางาน ที่มีข้อมูลให้ครบถ้วนทั้งตำแหน่ง ลักษณะงาน ฐานเงินเดือน และสถานที่ทำงาน

เรายังสามารถศึกษาเทรนด์ความต้องการของตลาด หากอาชีพเรากำลังเป็นที่ต้องการสูง แต่จำนวนผู้สมัครมีน้อย ก็เป็นจุดที่สามารถ “อัปค่าตัว” ได้มากขึ้นเช่นกัน


● เรื่องที่ 5: คำนวณค่าใช้จ่ายให้ดี

สิ่งที่สำคัญคือเงินเดือนที่ได้รับจะต้องตอบโจทย์ทั้งค่าใช้จ่ายรายเดือน และแผนเก็บเงินหรือการลงทุน พูดง่ายๆ ว่าเงินเดือนที่ได้รับควรเพียงพอต่อความจำเป็นและมากพอสำหรับอนาคต โดยไม่ใช่การขอสุ่มสี่สุ่มห้า แต่ต้องสอดคล้องไปกับทักษะตำแหน่งงาน และประสบการณ์ที่มีด้วย


● เรื่องที่ 6: วางแผนรองรับด้วยตัวเลข “ขั้นต่ำ”

เมื่อมี “ขอบเขตเงินเดือน” ที่ต้องการ รวมถึงรู้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ถัดมาคือกำหนดตัวเลข ‘ขั้นต่ำ’ ที่ตัวเองรับได้โดยที่ไม่ลำบากกัดก้อนเกลือกิน
เพราะบางครั้งเราอาจสนใจในตัวงาน แต่บริษัทไม่มีงบมากพอจะให้ได้ตามที่เราคาดหวังเป๊ะๆ ก็อาจต้องมีอีกหนึ่งตัวเลขสุดท้ายที่เรายังโอเคที่จะไปต่อได้


● เรื่องที่ 7: ต่อรองให้ตัวเองสักหน่อย

เป็นปกติที่เราจะไม่อยากต่อรองอัตราเงินเดือน เพราะนั่นหมายถึงเราไม่ได้ในตัวเลขที่หวังไว้แต่แรก แต่ก็น่าเสียดายเช่นกันถ้าเราตอบรับให้ตัวเลขที่ถูกเสนอมาโดยไม่ได้ ‘ต่อรอง’ สักหน่อย

จากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 5,500 คนของ Robert Half พบว่า 70% ของผู้ว่าจ้างคาดหวังให้ผู้สมัครต่อรองอัตราเงินเดือนโดยที่มีเพียง 43% ของผู้สมัครที่เคยทำ หมายความว่าเราทำ “เงินหล่นหาย” ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มงาน เช่นจาก 30,000 บาท เราอาจต่อรองเป็น 32,000 บาท ซึ่ง 2,000 บาทนี้อาจดูเป็นตัวเลขน้อยนิด แต่เมื่อรวมกัน 1 ปีก็เท่ากับ 24,000 บาทซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย


● เรื่องที่ 8: อย่ามองข้ามสวัสดิการ

นอกเหนือจากเงิน อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนพลาดคือ “สวัสดิการ” ซึ่งอาจดูเป็นแค่ “ของแถม” แต่ความจริงถ้านำมากางให้เห็นภาพกว้างว่าประโยชน์ที่เราได้รับมีอะไรบ้าง เช่นโบนัส วันหยุด สถานที่ทำงาน ซึ่งคำนวณแล้วอาจสำคัญไม่แพ้เงินเดือนเลยทีเดียว โดยแต่ละบริษัทก็จะมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป ควรเลือกที่เหมาะกับตัวเราและสามารถใช้ได้จริงจะดีที่สุด

ฝากโปรไฟล์และเรซูเม่ไว้กับเราพร้อมดูแลให้คำปรึกษาในการหางานที่ใช่ในบริษัทที่ชอบ


ติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม:
8 ข้อ DO & DON’T และ 3 สเต็ปสำหรับ “ขอขึ้นเงินเดือน”
6 เหตุผลที่เราควรหมั่นอัปเดตเรซูเม่


แปลและเรียบเรียงจาก:
https://bit.ly/3sVAujz  

https://bit.ly/3TJJT9D 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
https://indeedhi.re/3DHipfi

#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand
#Selfdevelopment #jobinterview #hiring #recruit