6 ลำดับขั้นของชีวิตการทำงาน ปัจจุบันคุณอยู่ที่ "เลเวล” ไหน

General TopicDecember 01, 2023 17:45

 

6 Stages of Career development
ปัจจุบันคุณเติบโตมาเป็นคนทำงาน “เลเวล” ไหน?

ในชีวิตการทำงานเราต่างมี “เส้นทาง” และ “เส้นชัย” กันเป็นของตัวเอง ซึ่งในเส้นทางเหล่านั้นก็มักจะมีจุดเช็กพอยท์มากมายที่เป็นเหมือนกับขั้นบันไดของการเติบโตผ่านกาลเวลา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เราต้องเป็น “ผู้ตาม” แล้วค่อยๆ พัฒนาตัวเอง สั่งสมประสบการณ์และความสามารถกว่าจะก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำ”

คุณ Gary Burnison ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Korn Ferry ได้บอกเล่าประสบการณ์
จากการทำงานในตำแหน่ง CEO เป็น “ผู้นำ” คอยช่วยชี้ทางให้กับบรรดา “ผู้ตาม” มากว่า 15 ปี
และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เขามักจะแนะนำให้กับผู้คนก็คือ

“การหางานและโอกาสที่ช่วยให้เราได้พัฒนาตัวเอง”
 

ต้องบอกว่าการพัฒนาตัวเองถือเป็นเรื่องสำคัญที่หลายๆ คนให้น้ำหนักความสำคัญอย่างจริงจัง เพราะการทำงานหนึ่งที่แล้วนอกจากเงินเดือนที่ได้รับ อีกหนึ่งสิ่งที่คนทำงานมองหาก็คือ “โอกาสเติบโต” ซึ่งเป็นเหมือนการลงทุนเพื่อต่อยอดไปสู่อนาคต สอดคล้องกับผลสำรวจในปี 2023 พบว่า 74% ของคนทำงานรุ่นใหม่หรือก็คือคน Gen Z พร้อมลาออกจากงาน หากรู้สึกว่าการอยู่องค์กรเดิมต่อไปไม่ได้ช่วยพัฒนาให้พวกเขามี “อนาคตที่ดี” หรือเก่งขึ้นได้

เมื่อการเติบโตในปัจจุบันคือรากฐานก่อนจะไปถึงเป้าหมายในอนาคต
เราจึงต้องรู้ว่า ณ ตอนนี้เราอยู่จุดไหนของ “เส้นทาง” ก่อนจะถึง “เส้นชัย”
จาก 6 ลำดับขั้นของการเติบโตในชีวิตการทำงานที่แม้ว่าในแต่ละสายงานจะมี “ลำดับขั้น” ที่ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด
แต่โดยส่วนใหญ่ก็มักจะมี “แม่แบบ” ที่คล้ายกันซึ่งแบ่งออกมาได้เป็น 6 ขั้นต่อไปนี้


1) Follower

การเป็น Follower (ผู้ตาม) คือสถานะคนทำงานลำดับแรกสุดซึ่งทุกคนต้องเคยผ่านมาก่อนสักครั้ง อาจจะตั้งแต่สมัยเริ่มต้นเป็นนักศึกษาฝึกงานหรือช่วงที่เป็นน้องเล็กเด็กจบใหม่แบบ First jobber และจุดเริ่มต้นมักจะสำคัญเสมอ เพราะเป็นช่วงเวลาที่เราได้จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ จึงมีโอกาสพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว รวมถึงถ้าไม่เคยเป็นคนตามก็จะไม่รู้ว่าควร “นำ” อย่างไร ดังนั้นจึงมักได้ทำเรื่อง “พื้นฐาน” เป็นส่วนใหญ่เช่น ทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหลัก


2) Collaborator

ลำดับถัดมาหลังจากทำหน้าที่เป็นผู้ตามมาสักระยะเราจะมีความคล่องตัว เข้าใจระบบ สามารถทำงานเป็น “ทีม” โดยหลักๆ ยังคงทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แต่เป็นช่วงเวลาที่จะได้พัฒนาทักษะ Soft skills เพิ่มขึ้นผ่านการเรียนรู้ที่จะทำงาน-รับมือกับคนอื่นๆ รอบตัว


3) Instructor

เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในอนาคตซึ่งได้ใช้ Soft skills ที่สะสมมาจากตอนเป็น Collaborator มากขึ้นในช่วงเวลาที่ได้ “สอนงาน” ให้กับคนอื่นๆ ในทีม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการสอนงานหรือคำแนะนำเหล่านั้นมีประสิทธิภาพมากพอให้อีกฝ่ายเข้าใจได้มากแค่ไหน จะทำอย่างไรให้เมื่อกระจายงานออกไปแล้วคุณภาพจะยังคงเดิมหรือแม้แต่ดียิ่งขึ้นไปอีก


4) Manager

ก้าวถัดมาในฐานะ “ผู้จัดการ” คือการใช้ทักษะที่ถูกพัฒนาแล้วมาต่อยอดบริหารทีมและดูแลเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น ท้าทายมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชักนำลูกทีมให้มองภาพเดียวกัน มีเป้าหมาย วิธีการ และกระบวนการวัดผลแบบเดียวกันให้ได้


5) Influencer

หลังจากผ่านช่วงเวลาของการนำทีมโดยตรง เรากำลังจะก้าวสู่การเป็น “รุ่นใหญ่” ให้น้องๆ ได้เคารพ มีประสบการณ์สูง ทักษะแน่นๆ ผ่านงานมาเยอะ เป็นคนที่สามารถชักจูงคนอื่นๆ ให้คล้อยตามได้ และถือเป็นหัวใจสำคัญของการประสานงานระหว่างองค์กร โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานกับคนที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับเรา


6) Leader

สิ้นสุดกันที่ “ปลายทาง” ของชีวิตการทำงาน เราที่ได้ผ่านช่วงวัยของการสู้ชีวิต แต่ชีวิตสู้กลับไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง วนไปมาจนเติบโตมาเป็นผู้บริหารหรือดำรงตำแหน่งสูงๆ ในบริษัท ซึ่งหน้าที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่บอกว่าพวกเขาต้องทำอะไร แต่เป็นควร “คิด” อย่างไร กระตุ้นและให้แรงบันดาลใจเพื่อรอถึงวันที่ต้นไม้จะผลัดใบ

อย่างไรก็ตามโลกการทำงาน ณ ปัจจุบันลำดับขั้นเหล่านี้อาจไม่ได้เป็นเพียงการเติบโตแบบ “เส้นตรง” แต่เป็น “ความเป็นไปได้” ที่ไม่มีวันจบสิ้น เพราะวันหนึ่งเราอาจจะพบเส้นทางใหม่ เส้นชัยอื่นๆ ขอแค่เรามีใจ มีไฟ พร้อมเรียนรู้อยู้เสมอก็เพียงพอ

อย่างการฝากโปรไฟล์พร้อมมองหางานใหม่ที่ตอบโจทย์และตรงใจมากขึ้น: คลิก

 

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
ระวัง! หัวหน้าจอมบล็อค ไม่ให้โต ไม่ให้หนี อยากเก็บไว้ใช้งานอย่างนี้ตลอดไป
สำรวจไทป์ความเป็นผู้นำในตัวคุณผ่าน 5 รูปแบบต่อไปนี้

 

แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3uLCZc3
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment