3 สิ่งที่ต้องเลี่ยงหากไม่อยากให้ “อายุ” มีผลต่อการสมัครงาน

How to?October 09, 2023 17:20

3 สิ่งที่ต้องเลี่ยงหากไม่อยากให้ “อายุ” มีผลต่อการสมัครงาน

จากสถานการณ์ปัจจุบันคุณคิดว่าตัวเองสามารถ “เกษียณ” จากชีวิตการทำงาน
โดยมี “อิสระภาพทางการเงิน” หรือความมั่นคงได้ตอนอายุเท่าไร?

เชื่อว่าต่างคนต่างมีคำตอบในใจกันอยู่แล้ว กลุ่มคนที่ไม่ได้แบกรับภาระหรือวางแผนได้ดีก็มีสิทธิโบกมือลาชีวิตการทำงานได้เร็ว แต่ด้วยเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่สำหรับบางส่วนอาจจำเป็นต้องลากยาวไปถึงวัย 40-50 หรือแม้แต่แตะ 60 ทำให้คนทำงานที่เข้าสู่ “ช่วงท้ายของอาชีพ” เริ่มที่จะกังวลใจเพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือสถานการณ์ที่บีบให้บริษัทต้อง Layoff เมื่อถึงตอนนั้นตัวเลขอายุก็มักจะเป็นอุปสรรคในการเริ่มมองหางานใหม่เนื่องจากบริษัทเองก็คงให้ความสนใจกับพนักงานอายุน้อยที่มีความ “สด” หรือยัง “มีไฟ” ที่จะทำงานมากกว่า


เราอาจรู้อยู่แก่ใจว่าอายุนั้นเป็นเพียงแค่ตัวเลข แถมจากประสบการณ์ที่มีก็ช่วยให้เราตัดสินใจและทำงานได้ดีขึ้น ถือเป็นช่วงวัยที่กำลัง “สุกงอม” ซึ่งน่าจะสร้างประโยชน์ให้บริษัทได้เยอะ ดังนั้นถ้ายังอยากโลดแล่นไปกับชีวิตการทำงานและไม่อยากให้อายุเป็นปัญหาในการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เราได้สรุปบทความโดยคุณ Robin Ryan ที่ได้แนะนำเทคนิคลดช่องว่างด้วยการจัดการ 3 สิ่งนี้บนหน้าเรซูเม่มาให้แล้วครับ

1) ประวัติการทำงานจากอดีตอันไกลโพ้น

อย่างที่ทราบกันดีว่าโลกเปลี่ยนไปเร็วขึ้นในทุกๆ วัน เป็นที่มาของการเน้นย้ำเรื่อง Reskill อย่างแพร่หลายในสังคม ดังนั้นประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้ว 20 ปีอาจไม่ได้มีนัยยะสำคัญหากต้องการจะสมัครงานใหม่ในช่วงท้ายอาชีพการทำงานอีกครั้ง และทางที่ดีควรคัดมาเฉพาะงานที่ใกล้เคียงกับ “ปัจจุบัน” มากที่สุดซึ่งก็คือกรอบภายในช่วงเวลา 5 - 10 ปีที่ผ่านมาว่ามีอะไรโดดเด่น

อีกทางหนึ่งเรายังสามารถอิงจาก Job Description ของงานที่อยากสมัครเพื่อทำการจับคู่คุณสมบัติของตัวเองเข้ากับ Requirement ที่บริษัทตั้งไว้ โดยวิธีดังกล่าวจะช่วยเป็นเช็กลิสต์ว่าเรา “ตรงโจทย์” ขององค์กรมากแค่ไหน ซึ่งยิ่งตรงมากก็ยิ่งมีโอกาสได้รับการพิจารณามากขึ้น เป็นการปิดช่องว่างของ “อายุ” ด้วยความสามารถในการทำงานอย่างแท้จริง

2) วันที่จบการศึกษา ปีเกิดหรืออื่นๆ ที่บอกถึงความ “สูงวัย”

ตัวเลขใดๆ ก็ตามที่บ่งบอกถึงอายุอาจชักจูงให้องค์กรเกิดอคติต่อการตัดสินใจรับเข้าทำงาน เนื่องจากทัศนคติที่มองว่าคนอายุมากอาจไม่สามารถปรับตัวได้ รวมถึงข้อจำกัดเรื่องของสุขภาพ สภาพร่างกายต่างๆ จึงทำให้มองว่าคนอายุน้อยอาจตอบโจทย์บริษัทในระยะยาวมากกว่า แต่ทั้งนี้การพิจารณารับเข้าทำงานควรอิงจาก “ความสามารถ” และความเหมาะสมต่อหน้าที่เป็นหลักมากกว่าเรื่องส่วนตัว ดังนั้นหากเรซูเม่ของคุณยังมีสิ่งเหล่านี้ค้างอยู่ก็จงจัดการให้เรียบร้อย

3) ทักษะที่ล้าสมัย

ตามหลักแล้วอายุงานที่มากขึ้นก็ควรที่จะมาพร้อมความ “ครบเครื่อง” ทั้งในแง่ Hard skill และ Soft skill อันเป็นอาวุธสำคัญของคนทำงาน แต่ปัญหาคือทักษะเหล่านี้บางอย่างอาจไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีซึ่งอาจกลายเป็นจุดอ่อนในโปรไฟล์ของเราได้

ทางที่ดีเราควรเน้นพูดถึงทักษะใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับปัจจุบันและจำเป็นต่ออนาคตเพราะเมื่อเทคโนโลยีต่างๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาแทนที่ของเก่าเราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ “ตกรุ่น” ตามเครื่องมือในอดีตเหล่านั้นไปด้วย

สรุป

แม้เข้าสู่ช่วงท้ายของอาชีพ แต่หากต้องการที่จะไปต่อในชีวิตการทำงาน สิ่งสำคัญคือต้องกล้ารับ “ความเปลี่ยนแปลง” และพร้อมเรียนรู้ใหม่เสมออย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าขณะที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเราเองก็ต้องปรับตัวตามกระแสของความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย นอกจากนี้ควรอัปเดตเวอร์ชันตัวเองให้ทันโลกเสมอโดยเรซูเม่ที่สะท้อนถึงความเป็น “นักเรียน” ที่ไม่หยุดพัฒนาตัวเองด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะใหม่ๆ เข้ากับการทำงานเสมอ เราอาจเติมความสดให้กับตัวเองด้วยการเข้าคอร์สที่เข้ากับยุคสมัยก็จะช่วยให้โปรไฟล์ดูน่าสนใจขึ้นได้มากทีเดียว

อย่าปล่อยให้อายุเป็นอคติที่คิดว่าตัวเองเก่งที่สุดหรือถูกทุกเรื่องเปิดใจยอมรับในเรื่องที่ “ยังไม่รู้” และฝึกฝนให้เกิดความเชี่ยวชาญถึงจะพาเราไปต่อได้ไม่ว่าจะในยุคไหนก็ตาม

เปิดโอกาสใหม่ให้ชีวิตการทำงาน ฝากโปรไฟล์ไว้กับเรา Reeracoen Recruitment

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม:
สรุป 4 ประเด็นสำคัญจากตลาดแรงงานทั่วโลกที่คนทำงานต้องรู้ก่อนสิ้นปี 2023
ทำไมหางานผ่าน Recruitment Agency ถึงมีโอกาสได้งานมากกว่าสมัครด้วยตัวเอง?

 

แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/46zRmxV
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม: https://bit.ly/3F5864l

#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment