4 ข้อผิดพลาดบนใบสมัครงานที่มักทำให้เราโดน "คัดออก" ตั้งแต่ต้น

General TopicOctober 20, 2023 16:56

4 ข้อผิดพลาดบนใบสมัครงานที่มักทำให้เราโดน "คัดออก" ตั้งแต่ต้น

Recruiter มืออาชีพที่มีความชำนาญมักใช้เวลาอย่างรวดเร็วในการรีวิวจดหมายสมัครงาน (cover letter) ของผู้สมัครแต่ละคนด้วยการอ่าน “คีย์เวิร์ดสำคัญ” ที่ตรงกับ Requirement ของตำแหน่งงานเพื่อจำแนกอย่างรวดเร็วว่าใครบ้างที่เข้าข่ายจะเป็นเป้าหมายของบริษัท ดังนั้นจากลักษณะการทำงานที่รวดเร็วและแม่นยำ จึงแปลว่า Recruiter ส่วนใหญ่มักจะมีเทคนิคและประสบการณ์ที่ทำให้สามารถรู้ทันทีว่าพวกเขากำลังมองหาอะไร รวมถึงบอกได้ว่าคนแบบไหนที่ “ใช่” และใครบ้างที่ควรถูก “คัดออก”

ในบทความนี้ Reeracoen Thailand ได้เรียบเรียงข้อผิดพลาด 5 จุดบนจดหมายสมัครงานที่ผู้สมัครทุกคนควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจส่งผลให้คุณถูกคัดออกจากการพิจารณาโดยไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้เข้าสัมภาษณ์ตั้งแต่แรก

1) ความเรียบร้อยและความเหมาะสม

เริ่มตั้งแต่จุดแรกอย่าง “ชื่ออีเมล” ที่หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงมีผล เพราะการตั้งชื่อดูไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับผลงานหรือความสามารถ ดังนั้นแค่พิจารณาจากคุณสมบัติและประสบการณ์ก็น่าจะพอแล้ว

ต้องบอกว่าหลักการพิจารณารับเข้าทำงานของบริษัทนอกจากคุณสมบัติที่สอดคล้องกับ Requirement การใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ ในฐานะ “มืออาชีพ” ก็สำคัญเช่นกัน ทางที่ดีควรใช้เป็นอีเมลชื่อ-นามสกุล (อาจเป็นตัวย่อเพื่อจำกัดความยาว) โดยไม่มีสัญลักษณ์แปลกๆ หรืออื่นๆ ที่ดูไม่เหมาะสมเนื่องจากชื่ออีเมลที่ใช้สามารถสะท้อนภาพลักษณ์และบ่งบอกถึงความจริงจังในอาชีพการทำงานได้

นอกจากนี้การตรวจทานความถูกต้องของข้อมูล เช่น “คำผิด” ทั้งในส่วนของการสะกดและหลักภาษา รวมถึงรูปแบบเอกสาร การจัดหน้าเรซูเม่ต่างๆ ก็เป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญที่ไม่ควรปล่อยผ่านเช่นกัน ก่อนส่งจดหมายหรือใบสมัครงานอย่าลืมตรวจทานซ้ำทุกครั้งอย่าสะดุดขาตัวเองเพราะลืมใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

2) เขียนสมัครงานแบบ Copy-Paste

หลังจากที่ได้อ่านรายละเอียดทั้งในส่วนของประวัติและคุณสมบัติ Recruiter มืออาชีพสามารถบอกได้ทันทีว่าเราอยู่ในกลุ่มคนแบบไหน ระหว่างตั้งใจใช้เวลาเขียนจดหมายเพื่อสมัครงานนี้โดยเฉพาะหรือ “ก็อปแล้ววาง” สำหรับหว่านสมัครงานในหลายๆ บริษัท

เมื่อคุณสมบัติส่วนใหญ่ของผู้สมัครอาจมีความใกล้เคียงกัน ปัจจัยถัดไปที่จะเข้ามาเป็นเกณฑ์ชี้วัดก็คือ “แพชชัน” หรือเหตุผลที่ทำให้ต้องการเข้ามาทำงานในบริษัทนั้นๆ เช่น ชื่นชอบในวิสัยทัศน์ อยากเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จองค์กร ซึ่งวิธีการเขียน ภาษาที่ใช้ก็มักจะสะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมา

3) ช่วงว่างงานที่ไม่มีคำอธิบาย

เราล้วนมีเหตุผลมากมายที่ทำให้มีช่วงเวลา Gap year จนเกิดการเว้นว่างจากชีวิตการทำงานไปสักช่วงระยะหนึ่ง เช่น ต้องใช้เวลาดูแลครอบครัว พักเบรคค้นหาตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพียงแต่ในสายตาของนายจ้างอาจเกิดความสงสัยว่าอะไรที่ทำให้ช่วงนั้นเรา “ว่างงาน” และกระทบต่อการพิจารณารับเข้าทำงานในภายหลัง

หน้าที่ของเราคือคลายข้อสงสัยเหล่านั้นให้ดีที่สุดด้วยการอธิบายเหตุผลที่ชัดเจนในประวัติการทำงาน หรือระบุตั้งแต่ต้นในส่วนของภาพรวมโปรไฟล์เพื่อไม่ให้มี “รอยด่าง” ที่ส่งผลต่อการสมัครงาน เรายังสามารถเสริมจุดแข็งให้ตัวเองมากขึ้นว่าในช่วงที่ผ่านมาได้ใช้เวลาไปกับอะไร มีทักษะไหนที่ได้ฝึกเพิ่มเติมหรือได้รับประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่อการทำงานในตอนนี้บ้าง

4) ไม่โชว์ความสำเร็จที่น่าสนใจ

ไม่ว่าโปรไฟล์จะดูดีแค่ไหน มีความสามารถล้นเหลืออย่างไร แม้แต่มีประวัติการทำงานอันยาวนานจนน่าตกใจก็ไม่อาจทำให้เราดูน่าสนใจในสายตาของนายจ้างหากไม่มีส่วนไหนบ่งบอกถึง “ความสำเร็จ” ที่ได้รับจากการทำงาน

การระบุถึงความสำเร็จในจดหมายสมัครงานและเรซูเม่คือหนึ่งในข้อผิดพลาดที่น่าเสียดายมากที่สุดของหลายคน เพราะการเขียนแค่ “หน้าที่ความรับผิดชอบ” นั้นยังไม่พอ เราต้องบอกได้ว่าเรามีตัวอย่างผลงานอะไรที่โดดเด่นบ้าง เช่น ตัวเลขยอดขายที่เพิ่มขึ้น หรืออื่นๆ ที่ชี้วัดจับต้องได้เป็นเปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ Recruiter หรือฝ่าย HR กวาดสายตามาแล้วต้องหยุดที่เรา

เปิดโอกาสใหม่ให้ชีวิตการทำงาน ฝากโปรไฟล์ไว้กับเรา Reeracoen Recruitment

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม
3 หัวข้อที่ควรหลีกเลี่ยงหากไม่อยากให้ "อายุ" มีผลต่อการสมัครงาน
4 เหตุผลทำไมหางานผ่าน Recruitment Agency ถึงมีโอกาสได้งานมากกว่าสมัครด้วยตัวเอง

แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3Q2yLnt
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment