ไม่ได้เปลี่ยนไป แค่ไม่มีเวลา! วิธีดูแลความสัมพันธ์ ในวันที่งานล้นมือ

How to?July 19, 2022 16:00


ไม่ได้เปลี่ยนไป แค่ไม่มีเวลา! วิธีดูแลความสัมพันธ์ ในวันที่งานล้นมือ

เคยไหม รู้สึกอึดอัดและกังวลใจทุกครั้ง เมื่อต้อง "ทำงานล่วงเวลา" ไหนจะความเหนื่อยล้าที่เพิ่มขึ้น แถมยังต้องรับมือกับคนทางบ้านที่อาจมองว่าเราเปลี่ยนไป ไม่มีเวลาให้กันเหมือนเดิม ซึ่งเป็นปัญหาหนักใจคนทำงานและเชื่อว่าหลายๆ คนต้องเคยเผชิญ วันนี้ Reeracoen Thailand จะพามาดูวิธีการดูแลความสัมพันธ์ ในวันที่งานล้นมือ ติดตามได้ในบทความนี้เลยครับ
 

A : “ช่วงนี้เปลี่ยนไปนะ ไม่มีเวลาให้เราเลย”
B : “ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่งานมันหนักจริงๆ อย่าทำให้เหนื่อยเพิ่มได้ไหม”
A : “ได้ งั้นก็ไม่ต้องเหนื่อยแล้วนะ เรา-เลิก-กัน!”
B : “อ้าว..”


คุณเคยเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ในความสัมพันธ์ไหม?

ในสถานการณ์ทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างคนทางบ้าน-งาน คงดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อมีโปรเจกต์พิเศษ หรือภาระหน้าที่การงานเพิ่มขึ้นอย่างกระทันหัน แน่นอนว่าในฐานะคนทำงาน ก็ยากที่เราจะเลี่ยงได้ ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ “งานเข้า” จนเป็นต้นเหตุของการจบความสัมพันธ์แบบในตัวอย่างข้างต้น
ถึงเวลาเรียนรู้วิธีการดูแลความสัมพันธ์ ในวันที่งานล้นมือ เพื่อรักษาเธอไม่ให้จากไปแม้เธอพร้อมจะบอกลา


บทความเรื่อง You’re Working More. Here’s how to talk to your partner about it. บนเว็บไซต์ Harvard Business Review ได้บอกว่า เมื่อต้องทำงานล่วงเวลา ซึ่งกระทบกับเวลาที่เดิมเป็นของ “คนทางบ้าน” เพื่อทำงานให้ลุล่วง ตามเป้าหมาย หรือเร่งทำผลงาน และแสดงออกถึงความมุ่งมั่น เต็มที่ ก็ส่งผลดีต่อหน้าที่การงาน แต่อีกส่วนก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ให้เกิดรอยร้าวได้


ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการทดลองผ่านตัวอย่างทดลองกว่า 1,000 คน เพื่อหาวิธีการ “ต่อรอง” กับคนทางบ้าน สื่อสารให้เข้าใจถึงเป้าหมายว่าเพราะอะไรถึงเลือกทำงานล่วงเวลา แทนที่จะใช้เวลาหลังเลิกงานด้วยกันเหมือนเมื่อก่อน ลดรอยร้าว ประสานรอยรั่ว และช่วยให้เราเต็มที่กับงานได้โดยไม่ต้องกังวลอีกต่อไป


ในขั้นแรก ผู้วิจัยได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกจากคู่รักพนักงานออฟฟิศ 28 คู่ และแบบสอบถามเพิ่มเติมอีก 192 คู่ ถึงวิธีการคุยกับคนรัก เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต้องเลิกงานดึก ซึ่งแบ่งออกมาได้ 5 รูปแบบ เรียงลำดับจากถูกใช้บ่อยที่สุดไปน้อยที่สุด


อันดับที่ 1 บอกล่วงหน้า
อันดับที่ 2 ขออนุญาต
อันดับที่ 3 ช่วยหาวิธีแก้ปัญหา ลดภาระที่อาจเพิ่มขึ้น
อันดับที่ 4 อธิบายถึงเหตุผลของการทำงานล่วงเวลา
อันดับที่ 5 เน้นย้ำข้อตกลงที่เคยคุยกันไว้


ผลการศึกษาครั้งแรกพบว่า สามอันดับแรก ได้แก่ 1. บอกล่วงหน้า 2. ขออนุญาต และ 3. ช่วยแก้ปัญหา
มีแนวโน้มที่ “คนทางบ้าน” จะพอใจมากที่สุด เนื่องจากได้รับรู้ถึงความใส่ใจของอีกฝ่าย ในขณะที่สองอันดับสุดท้ายเป็นการพูดเฉพาะเหตุผลในฝั่งของตัวเอง


เพื่อเป็นการพิสูจน์เพิ่มเติม ผู้วิจัยจึงได้ทำการทดลองกับอาสาสมัครอีก 900 คน ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนเดิม คือคนทางบ้านจะพึงพอใจมากที่สุด เมื่อมีการแจ้งล่วงหน้า หรือขออนุญาต และจะไม่พอใจมากที่สุด เมื่อถูกย้ำถึงข้อตกลงที่เคยทำร่วมกันก่อนหน้านี้


แต่ถึงแม้ว่าการบอกล่วงหน้า หรือขออนุญาต จะเป็นวิธีที่ “คนทางบ้าน” พอใจมากที่สุด และดูเหมือนจะลงเอยด้วยดี แต่ผลวิจัยยังชี้ต่อไปอีกว่าพนักงานที่ใช้วิธีบอกล่วงหน้า หรือขออนุญาต กลับมีแนวโน้มที่จะไม่ได้ทำงานล่วงเวลา ด้วยสาเหตุที่ว่า “ไม่ได้รับอนุญาต” จากคนทางบ้าน ในขณะที่พนักงานที่เลือกใช้เหตุผลอันดับที่ 4
และอันดับที่ 5 นั้นมีแนวโน้มที่จะสำเร็จในการทำงานมากกว่า!


ถ้าการเลือกคนทางบ้านจะทำให้งานไม่เดิน แถมถ้าเลือกงาน คนทางบ้านก็งอน คำถามคือแล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?


คำตอบคือ ได้! ในบทความเดียวกันนี้ ได้แนะนำวิธีที่น่าสนใจในการดูแลกับคนทางบ้าน เมื่อต้องทำงานล่วงเวลา โดยเริ่มจาก


1) จัดระเบียบความสำคัญ


จากบทความระบุว่าอาสาสมัครหลายคนมักจะรู้สึกว่า “การทำงานล่วงเวลา” เป็นสิ่งที่จำเป็น แม้จะไม่ถูกสั่ง ก็รู้สึกว่าควรจะทำ เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและประสบความสำเร็จในการสร้างครอบครัวที่มั่นคง โดยสนใจเฉพาะ“สิ่งที่ตัวเองคิดว่าสำคัญ” อย่างการทำงานล่วงเวลา หรือออกไปกินข้าวกับลูกค้าในวันหยุด ทั้งๆ ที่ความจริงอาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้น และมองข้ามความสำคัญของอีกฝ่ายที่อาจจะสำคัญไม่แพ้กัน


สิ่งที่เราควรทำเพื่อจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้องคือวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนว่างานนี้สำคัญขนาดไหน สามารถมีใครทำแทนได้หรือเปล่า หรือที่ออกไปกินข้าวกับลูกค้า เพราะหัวหน้าแค่ถามพอเป็นพิธี แต่ไม่ต้องไปจริงๆ ก็ได้?


วิธีการเหล่านี้สามารถช่วยให้เรามองทะลุถึงความสำคัญ และจัดการได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ถ้าเรื่องสำคัญควรทำ ก็แค่บอกคนทางบ้าน แต่ถ้าไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ก็ลองวิธีการอื่นในการจัดการเพื่อรักษาทั้งงาน และคนทางบ้านให้ไปด้วยกันได้


2) การทำงานล่วงเวลาไม่ใช่วิธีเดียวที่จะเติบโตในองค์กร!


นอกจากการทำงานล่วงเวลา เรายังสามารถมีส่วนร่วมกับทีม กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ได้แม้ในเวลางานปกติ
เช่นเสนอความช่วยเหลือในโปรเจกต์พิเศษ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างการทำงาน เสนอไอเดียในโปรเจกต์ใหม่ๆ เพื่อมีส่วนร่วมกับองค์กรในทุกๆ ระดับ พร้อมให้ความสำคัญกับคนทางบ้านไปด้วย สร้างสมดุลระหว่างงาน - บ้าน อย่างยั่งยืนโดยที่ไม่ต้องทำงานล่วงเวลาให้เหนื่อยกว่าเดิม


3) อย่าละเลยการสื่อสาร และความใส่ใจ


จากผลวิจัยเราจะเห็นได้ว่า การบอกล่วงหน้า การขออนุญาต และการช่วยหาวิธีลดภาระต่างๆ คือวิธีที่ดีที่สุดในการต่อรองกับคนทางบ้าน เมื่อต้องทำงานล่วงเวลา
ซึ่งหลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมต้องขอ ในเมื่อเรื่องนี้ก็สำคัญในฐานะวิธีการผลักดันตัวเองเพื่ออนาคต


จริงอยู่ที่การทำงานเพื่อพัฒนาตัวเอง พัฒนาเส้นทางอาชีพไม่ใช่เรื่องที่เราต้องขออนุญาตใคร
แต่อย่าลืมว่าการให้ความใส่ใจ มอบความสำคัญให้กับอีกฝ่ายก็ไม่ควรถูกละเลยเช่นกัน
แน่นอนว่าอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจอยู่แล้วถึงภาระหน้าที่การงาน แต่การแสดงออกของเราที่มองว่าเขาสำคัญไม่แพ้กัน ก็ช่วยเสริมความรู้สึกดีๆ ให้กันได้ เราจึงควรรู้จักที่จะพูดคุย ใส่ใจกันและกันด้วย


ติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่

ทำไมเราต้องจ้างคุณ? 4 เทคนิคง่ายๆ “ขายตัวเอง” ให้ได้งาน

ระวัง TOXIC SUPERSTAR ในที่ทำงาน คนทำงานเก่ง แต่ “ฝีปากแซ่บ” พอๆ กับฝีมือ


แปลและเรียบเรียงจาก:
https://bit.ly/3PBgTym


#ReeracoenRecruitment
#ReeracoenThailand