9 ขั้นตอนการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด 90/91 ปี 2563

General TopicMarch 09, 2020 14:37

แนะนำ 9 ขั้นตอนสำหรับการยื่นภาษี 2563 (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด 90/91)

Income tax documents

และแล้วอีกหนึ่งปีก็ผ่านไปไวเหมือนโกหก ก็สมควรแก่เวลาที่เราจะต้องยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันอีกครั้งแล้ว ปีนี้นับว่าเป็นโอกาสทองในการหมุนเวียนเงินสด สำหรับคนที่ต้องชำระภาษีเพิ่มเติม เพราะกรมสรรพากรกำหนดวันยื่นและชำระภาษีวันสุดท้ายคือวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ใครที่กำลังมีภาระการเงินท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้ คงจะพอโล่งใจกันไปได้บ้าง สมัยนี้การเสียภาษีไม่ยุ่งยากอย่างในอดีต เพียงแค่เตรียมเอกสารและข้อมูลที่จำเป็น กรอกแบบฟอร์มในระบบออนไลน์ และทำตามขั้นตอนให้ครบถ้วน ง่าย ๆ ไม่ต้องเดินทางไปที่ไหน เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อยแล้ว สำหรับใครที่ยังใหม่หรือยังไม่ชินกับระบบ เราอยากแนะนำขั้นตอนที่จะช่วยให้คุณไม่ต้องปวดหัวกับการยื่นภาษี 2563 ทำตามนี้ทีละขั้นตอน ไม่มีพลาดแน่นอน

 

ลำดับขั้นตอนการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีออนไลน์ปี 2563

Income tax form

1. เตรียมเอกสารและข้อมูลให้พร้อม เปิดเว็บบราวเซอร์ที่คุณมีในเครื่อง แล้วเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่ https://www.rd.go.th/publish/index.html แล้วคลิกที่ ‘ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91’ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

Log in Personal Income Tax Returns

 

2. ระบบจะให้เรากรอกหมายเลขผู้ใช้ 13 หลัก (เลขบัตรประชาชน) และรหัสผ่าน หากนี่เป็นการยื่นภาษีครั้งแรกของคุณ ให้คลิกที่ ‘ลงทะเบียนที่นี่’ ซึ่งอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมด้านล่าง จากนั้นเลือกประเภทของผู้เสียภาษีให้ถูกต้อง ขั้นตอนการลงทะเบียนจำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนด้วย เพราะต้องใช้รหัสด้านหลังบัตร

Register Personal Income Tax Returns

 

3. เมื่อเข้าสู่ระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมาถึงหน้าข้อมูลผู้มีเงินได้ ตรวจสอบว่าข้อมูลถูกต้องหรือไม่ ทั้งชื่อและที่อยู่ของผู้มีเงินได้ ถ้าพบว่าไม่ถูกต้องหรือได้ทำการขอเปลี่ยนมา ให้ทำการแก้ไขเสียก่อน ถ้าเห็นว่าเรียบร้อยแล้วให้คลิกไปที่ ‘ทำรายการต่อไป’ ได้เลย

Register Personal Income Tax Returns

 

4. ระบบจะพาเรามาสู่ 1) หน้าหลัก ที่นี่เราจะต้องเลือกสถานภาพของผู้มีเงินได้ และสถานะการยื่นแบบ รวมถึงคู่สมรส (ถ้ามี) เลือกให้ตรงกับความเป็นจริงแล้วคลิกที่ ‘ทำรายการต่อไป’ ที่อยู่ด้านขวาล่างสุด

Register Personal Income Tax Returns

 

5. จากนั้นระบบจะพาเรามาสู่ส่วนที่ 2) เงินได้/ลดหย่อน ที่นี่ให้คุณเลือกติ๊กประเภทเงินได้ของคุณทางกรอบสี่เหลี่ยมฝั่งซ้ายมือ เช่น ถ้าเป็นเงินเดือนของพนักงานบริษัทเอกชนต่างๆ ให้เลือกติ๊กช่อง 40(1) ส่วนผู้ที่มีรายได้จากธรกิจอื่นๆ ก็ต้องเลือกในช่องที่แตกต่างกันไป เราสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตรงเครื่องหมาย (?) ด้านหลังแต่ละมาตราเลย จากนั้นให้เลือกติ๊กเงินที่ได้รับการยกเว้นและค่าลดหย่อนในกรอบทางขวามือ ตรงนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่าสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ อย่างประกันสุขภาพ ประกันชีวิต กองทุน LTF/RMF ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตร หากแน่ใจว่าเลือกครบแล้วจึงกดที่ ‘ทำรายการต่อไป’

Exemption Register

6. ระบบการยื่นภาษีจะพาเรามาส่วนที่ 3) บันทึกเงินได้ หน้านี้เราจะต้องกรอกตัวเลขของเงินได้รวมลงไปให้ถูกประเภท ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ก่อนหน้า รวมถึงเลขประจำผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้ เช่น บริษัทหรือองค์กรที่คุณทำงานอยู่ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าตัวเลขทั้งหมดถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะส่วนของการหักค่าใช้จ่าย เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ก่อนจะทำรายการต่อไป

7. ระบบจะนำเรามาสู่ส่วนที่ 4) บันทึกค่าลดหย่อน ให้เรากรอกลงไปให้หมดตามที่ได้เลือกไว้ในส่วนที่ 2) เช่นเคยคือใส่ให้ครบถ้วนตามจริงเท่าที่มี หากแน่ใจว่าไม่ขาดอะไรแล้วให้ทำรายการต่อไปได้เลย

8. เมื่อผ่านขั้นตอนทั้ง 4 มาแล้วระบบจะนำเรามาสู่ 5) คำนวณภาษี เป็นการสรุปออกมาเป็นตัวเลขสุดท้ายที่หน้านี้ ซึ่งจะมาหักกลบลบหนี้กับภาษีที่เคยชำระไว้เกิน (ถ้ามี) จากนั้นเลื่อนลงท้ายของหน้าจะเห็นช่องให้เลือกบริจาคและช่องขอผ่อนชำระภาษี (ผ่อนได้ 3 งวด งวดละเท่า ๆ กัน) หากมีภาษีที่ชำระไว้เกินเราสามารถขอคืนภาษีผ่านทางพร้อมเพย์ได้ที่นี่

9. ท้ายสุดเราจะมาอยู่ 6) ยืนยันการยื่นแบบ เป็นหน้าสรุปยอดว่าจะต้องยื่นภาษีเท่าไหร่และยืนยันการเสียภาษีเป็นครั้งสุดท้าย หากแน่ใจว่าได้กรอกข้อมูลทุกอย่างถูกต้อง ครบถ้วนแล้ว ให้ไปคลิกที่ ‘ยืนยันการยื่นแบบ’ ทางขวาล่างสุดได้เลย ระบบจะแสดงผลการยื่นแบบขึ้นมาให้เราสามารถพิมพ์ออกมาหรือบันทึกเก็บเป็นไฟล์ไว้ในเครื่องได้ หากต้องการขอคืนภาษีให้เลือกที่ ‘นำส่งเอกสารขอคืนภาษี’ เพื่อทำการอัพโหลดเอกสารที่จำเป็นให้สรรพากรต่อไป

เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการการยื่นภาษีออนไลน์ของปี 2563 นี้ ไม่ยากเลยใช่ไหม เพียงทำตามขั้นตอนทั้ง 9 นี้ตามลำดับ เรามั่นใจว่าคุณจะเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและประหยัดภาษีได้สูงสุดเท่าที่กฎหมายอำนวยให้แล้วครับ